- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Friday, 07 April 2017 10:47
- Hits: 9994
'สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด' ชี้ ไทย-จีน มีแนวโน้ม'แก่ก่อนรวย'ชี้ปี 78 เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด
ธนาคาร สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เผยแพร่ผลวิจัย ชี้ ไทย-จีน มีแนวโน้ม ‘แก่ก่อนรวย’ โดย 1 ใน 5 ของประชากรไทยและจีนจะเข้าสู่วัย 65 ปีขึ้นไปภายในปี 2578 ซึ่งถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ชี้การลงทุนด้านการศึกษา การรักษาหนี้ภาครัฐในระดับต่ำ และการยกระดับการมีส่วนร่วมในภาคแรงงานของสตรีจะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ พร้อมคาดตลาดผู้บริโภคในกลุ่มสูงวัยมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในทวีปเอเชีย
นางซาแมนท่า อาเมอราซิงห์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า โลกตะวันตก ประชากรสูงวัยเป็นประเด็นปัญหามานานนับทศวรรษแล้ว แต่ในอนาคต สังคมที่จะมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดคือ เอเชีย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนตอนนี้มีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึง 131 ล้านคน ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่น เยอรมนีและอิตาลีรวมกันถึงสองเท่า และเอเชียกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยในเวลาอันรวดเร็วยิ่งกว่ายุโรปและสหรัฐเมื่อศตวรรษที่แล้ว
“ตามที่กล่าวข้างต้นหมายความว่า บางประเทศในเอเชีย เช่น ไทยและจีน ประชากรจะมีแนวโน้ม “แก่ก่อนรวย” ซึ่งประเทศเหล่านี้จะต้องรีบหาทางบริหารจัดการประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นจะตกอยู่ในห้วงกับดักชนชั้นกลาง”
เกาหลีและสิงคโปร์เป็นสังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งหมายความว่าประชากรราวร้อยละ 7-14 อยู่ในวัย 65 ปีขึ้นไป และภายในปี 2573 หนึ่งในห้าของคนเกาหลีและสิงคโปร์จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในทางสถิติจัดว่าเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด” เหมือนอย่างสหราชอาณาจักรและเยอรมนี ส่วนไทยและจีนจะเข้าข่ายเดียวกันภายในปี 2578
โครงสร้างสังคมสูงวัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลักๆ แล้วคือทำให้ปริมาณและคุณภาพของแรงงานลดลง และด้วยโครงสร้างของประชากรที่กำลังเปลี่ยนไปของจีน เกาหลี ฮ่องกงและไทย จะเริ่มแสดงผลกระทบที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในปี 2563 ส่วนสิงคโปร์จะเห็นผลกระทบแบบเดียวกันก่อนปี 2568
แม้จะมีความพยายามเชิงนโยบายใหม่ๆ ออกมาหลายอย่างเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดในหลายประเทศของเอเชีย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในประเทศเศรษฐกิจสำคัญอย่างจีน ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์และเกาหลี อัตราการเกิดยังคงอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่จะทดแทนจำนวนประชากรในปัจจุบันได้
อย่างไรก็ดี แม้ประชากรที่เริ่มสูงวัยในเอเชียจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจหลีกเลี่ยงได้
การยกระดับคุณภาพแรงงานแม้เพียงเล็กน้อย โดยลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น จีนอาจเลื่อนผลกระทบจากสังคมสูงวัยที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจออกไปได้มากถึง 10 ปี โดยจากแนวโน้มปัจจุบัน จีนกำลังจะเป็นแหล่งรวมแรงงานที่มีการศึกษาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในช่วงหลายสิบปีจากนี้ไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนเกิดผลกระทบจากสังคมสูงวัย และหากมีการลงทุนมากขึ้น ผลกระทบดังกล่าวก็สามารถเลื่อนออกไปได้นานขึ้นอีก
ประเทศในเอเชียซึ่งมีหนี้ภาครัฐค่อนข้างต่ำ ยังสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากสังคมสูงวัยได้ผ่านระบบบำนาญ เพื่อช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีระบบบำนาญในหลายประเทศของเอเชียยังเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน เช่น มีความเป็นไปได้ที่เงินบำนาญทั่วประเทศของจีนจะติดลบตั้งแต่ปี 2573 ซึ่งภาครัฐอาจต้องเร่งหาทางสนับสนุนประชากรสูงวัยผ่านมาตรการบริการดูแลสุขภาพและประกันสังคม
นอกจากนี้ การดำเนินการรักษาระดับหรือเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในภาคแรงงานให้มากขึ้น เช่น การยกระดับอัตราการมีส่วนร่วมในภาคแรงงานของสตรีจะส่งผลกระทบได้รวดเร็วทันที ประเทศอย่างเกาหลี สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่นดำเนินโครงการหลายอย่าง เช่นให้เงินอุดหนุนและเบี้ยเลี้ยงการดูแลเด็ก และแรงจูงใจแก่พนักงานเพื่อสร้างภาวะที่เป็นมิตรต่อพนักงานในการดูแลครอบครัวมากขึ้น แนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นหนทางรวดเร็วที่สุดในการบรรเทาผลกระทบจากสังคมสูงวัย
ประชากรสูงวัยยังอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุน แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าตลาดผู้บริโภคสูงวัยมีศักยภาพในการเติบโตพอสมควรในประเทศเกิดใหม่ของเอเชีย โดยเฉพาะจีน
แนวโน้มที่เห็นในประเทศที่พัฒนาแล้วน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐ ภายในปี 2563 คนอายุต่ำกว่า 45 จะถือครองสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเพียงร้อยละ 11 ดังนั้น คาดว่าน่าจะเห็นรูปแบบการใช้จ่ายที่สะท้อนภาพใกล้เคียงกับที่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกขณะนี้เมื่อเศรษฐกิจประเทศในเอเชียพัฒนาขึ้น
ขณะที่รัฐบาลในเอเชียแสดงเจตน์จำนงที่จะรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัย ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการถ่วงดุลผลกระทบเชิงลบด้วยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในกลุ่ม “เศรษฐกิจสูงวัย” จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในระยะยาว