- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 19 March 2017 20:21
- Hits: 4244
เฟด'ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด'ปลัดคลัง'ชี้กระทบไทยสั้นๆ
แนวหน้า : ที่ประชุม ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอีก 0.25% ซึ่งเป็นไปตามตามการคาดหมายก่อนหน้านี้ โดยมีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ว่า ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และที่ผ่านมาเฟดก็ได้มีการส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อไม่ให้มีระดับเกินกว่า 2%
"เป็นเรื่องที่ตลาดรับรู้กันอยู่แล้วว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนในแง่ของการลงทุนของไทยนั้น มองว่าอาจจะทำให้เกิดการกระตุกในช่วงสั้นๆเกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุนเท่านั้น เพราะการที่ดอกเบี้ยมีการปรับขึ้น แน่นอนที่ตามมาก็คือการไหลออกของเงินทุน แต่ไม่น่าจะรุนแรงจนทำให้เกิดความผันผวนแต่อย่างใด" นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีเครื่องมือเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าออก
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศของไทย อาจปรับขึ้นนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้มีการเตรียมความพร้อมของแผนงานในการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว จึง ไม่น่าเป็นห่วง
ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 0.25% เป็นการปรับขึ้นตามคาด แต่อาจจะไม่ได้มีลักษณะของการขึ้นที่จะเร่งรีบ จึงมีการปรับตัวของตลาดบ้างเล็กน้อย โดยธปท.ยืนยันดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และในขณะนี้ ยังไม่เห็นความเสี่ยงภาวะเงินเฟ้อต่ำ
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และรองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)แสดงความเห็นว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเฟดขึ้นดอกเบี้ย ก่อนหน้านี้มีการคาดกันว่าจะทำให้ค่าบาทจะอ่อนค่าลง แต่ขณะนี้ยังคงแข็งค่า โดยจะต้องติดตามอีกระยะหนึ่งว่าจะไปในทิศทางใดแน่ แต่ภาพรวมส่งออกปีนี้ยังคงมองว่ายังโตได้ 2-3% จากปีก่อนแม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า ระยะสั้นนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะมีความผันผวนแต่จะมีทิศทางไปในทางแข็งค่ามากกว่า เนื่องจากปัจจัยสำคัญได้แก่ 1. ไทยมีดุลการค้าเกินดุล 2. มีทุนสำรองค่อนข้างมาก 3.การเมือง มีเสถียรภาพ ทำให้เงินยังคงไหลเข้ามา ยังไทยอยู่ แม้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแต่หลายคนก็ยังคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไม่แน่นอนด้วยนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์
พาณิชย์-สภาผู้ส่งออก เผยเฟดขึ้นดอกเบี้ยเป็นผลดีภาพรวมส่งออกไทย มั่นใจปีนี้โตได้ตามเป้าหมาย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 0.25% ว่า เป็นไปตามคาดการณ์เพราะเฟดส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯกำลังฟื้นตัวอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทยทั้ง ไก่ ทูน่า ผลไม้กระป๋อง และอาหารทะเล เมื่อสินค้าเกษตรส่งออกดีขึ้นก็จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศดีขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกของไทยในสัดส่วน 9.7% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะการที่ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น แต่ราคาน้ำมันอาจจะไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น ทำให้สินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับน้ำมัน เช่น ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป ไม่ได้รับอานิสงส์ ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/เหรียญฯ แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมการส่งออก แต่ต้องดูอัตราแลกเปลี่ยนของเพื่อนบ้านด้วยว่าสอดคล้องกันหรือไม่ เพราะจะสะท้อนถึงขีดความสามารถการแข่งขันได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจว่า มูลค่าการส่งออกของไทยเฉลี่ยเดือนละ 18,000 ล้านเหรียญฯ ยังคงมีความเป็นไปได้สูง และจะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีนี้ของไทยเป็นไปได้ตามเป้าขยายตัว 5% จากปีก่อนตามที่คาดการณ์ไว้
ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจของสหรัฐและโลกเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อการค้า การส่งออกของไทยและทั่วโลก โดยเอกชนเชื่อว่า การส่งออกไทยจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 2-3% ส่วนค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/เหรียญฯ ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกให้เกิดความสบายใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่น่าห่วง คือ เงินทุนไหลออก เพราะเม็ดเงินจะกลับเข้าไปในสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องในภูมิภาค และอาจทำให้ภูมิภาคปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม อีกทั้งยังต้องติดตามเรื่องของตลาด แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต แต่มีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาด หรือบางตลาดอาจได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ดังนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงยังต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะเกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจของโลก
เยลเลนเผยเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้บ่งชี้ถึงความวิตกเงินเฟ้อ มั่นใจศก.แกร่งพอรับมือภาวะวิกฤต
นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมครั้งล่าสุดว่า การที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากความวิตกเรื่องเงินเฟ้อ ตามที่นักลงทุนบางส่วนเข้าใจ พร้อมระบุว่า เฟดสามารถรับมือได้หากเงินเฟ้อทะลุเป้า 2% ในระยะเวลาสั้นๆ และเฟดมีความตั้งใจที่จะรักษาจุดยืนด้านนโยบายการเงินในลักษณะผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นางเยลเลน เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี ทั้งในด้านความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่น ซึ่งจะสนับสนุนให้เฟดสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
"เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี เรามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะปรับตัวกับวิกฤตการณ์ต่างๆได้" นางเยลเลนกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติด้วยคะแนนเสียง 9-1 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันเฟดคาดการณ์ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้น 3 ครั้งในปีหน้า
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐยังได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ว่า ข้อมูลที่ได้รับนับตั้งแต่ที่คณะกรรมการ FOMC ประชุมกันในเดือนก.พ.บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขยายตัวปานกลาง ส่วนการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวปานกลาง และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง
ส่วนเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา โดยเคลื่อนตัวเข้าใกล้เป้าหมายระยะยาวของคณะกรรมการ FOMC ซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหารนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยและยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 2% โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวบ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
ธปท.มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวศก.ไทย แม้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาสู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นได้ตามที่ตลาดคาดการณ์ว่า ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ธปท.มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากจะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม จะต้องดูว่าผลประโยชน์ที่มีต่อเศรษฐกิจจะมากกว่าผลกระทบด้านลบอื่นๆ หรือไม่ อาทิ ผลต่อการออมของประชาชนในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และผลต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ
นอกจากนี้ มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธ.ค.ของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชน ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย ธปท. จึงยังไม่เห็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะติดกับดักภาวะเงินเฟ้อต่ำ โดยสะท้อนจากเครื่องชี้วัดในตลาดสินค้าและแรงงานของไทย ประกอบกับกับเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว
"ความกังวลต่อ global disinflationary shock ได้ลดลง และเริ่มเห็นสัญญาณของ global reflation แล้ว จากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกและผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้น ธปท. จึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ" นายเมธี ระบุ
ปลัดคลัง เผยเฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทยน้อย ส่วนเงินไหลออกมั่นใจธปท.ดูแลได้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า ในส่วนของประเทศไทย มั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในช่วงสั้นอาจมีการกระตุกในเรื่องจิตวิทยาการลงทุนบ้าง ส่วนปัญหาเรื่องเงินไหลออกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพราะดอกเบี้ยมีการปรับขึ้น แต่ว่าประเทศไทยก็มีเครื่องมือเพียงพอที่จะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวน และมั่นใจว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะควบคุมเรื่องนี้ได้
ขณะที่ค่าเงินบาท ไม่ได้อ่อนหรือแข็งกว่าเพื่อนบ้าน ยังไม่น่าเป็นกังวล ส่วนภาคเอกชนอาจจะต้องเตรียมเครื่องมือเพื่อรองรับความผันผวนในช่วงสั้นที่จะเกิดขึ้น
"กรณีเฟดขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และรับรู้มานานแล้ว เพราะที่ผ่านมาเฟดได้มีการส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่องว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางดีขึ้น"
อินโฟเควสท์