- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 13 February 2017 19:36
- Hits: 3820
ความเชื่อมั่น SME ทรงตัวปิดปีวอก ลุ้นต่อปีระกาหวังปัจจัยบวกหนุนเพิ่ม
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เผยความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ปลายปียังทรงตัว หวัง E-Commerce ทิศทางราคาสินค้าเกษตร การลงทุนภาครัฐ หนุนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปีระกาฟื้น
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย ‘ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี’(TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 4/2559 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,318 รายทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 40.0 ต่ำกว่าระดับ 41.9 ในไตรมาสก่อนเล็กน้อย
“ผู้ประกอบการ SME มองเศรษฐกิจปลายปีลิงยังซึม เหตุเพราะรายได้ภาคเกษตรโดยรวมหดตัวจากปัญหาที่เกิดกับพืชหลักบางรายการ คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในภาคเหนือและอีสาน อย่างไรก็ตาม เราเห็นทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคใต้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว ที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่มีความคึกคักมากขึ้นโดยเฉพาะในหมวดของการซื้อรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ แม้ช่วงปลายปีอาจชะงักไปบ้างจากภาวะน้ำท่วม” นายเบญจรงค์กล่าว
ผลการสำรวจจากผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ พบว่ากว่าร้อยละ 56 ประเมินว่ายังมีความกังวลในการดำเนินธุรกิจ ลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2557 ที่ร้อยละ 72 สะท้อนให้เห็นว่า SME สามารถปรับตัวต่อสภาวะความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาทดสอบได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ยังกังวลในการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 66.2 มองปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซื้อที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และภาวะการแข่งขันรุนแรงจากจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นและคู่แข่งรายใหญ่ที่มีสายป่านยาวกว่าเป็นประเด็นหลักกระทบความสามารถและโอกาสในการประกอบกิจการ
นอกจากนี้ สำหรับปัจจัยกังวลอันดับรองนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยปัญหาสภาพคล่อง เป็นอุปสรรคที่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่การขาดแคลนแรงงานทักษะ ส่งผลต่อความกังวลกับการดำเนินธุรกิจในภาคตะวันออก ในขณะที่ปัญหาภัยธรรมชาติสะท้อนความกังวลของชาวใต้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการยังมองไปในทิศทางเดียวกันว่าความเชื่อมั่นในอนาคตมีแนวโน้มลดตัวลง
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองว่า นอกจาก E-Commerce ที่เป็นเครื่องมือหนุนรายได้ของ SME แล้ว ราคาพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยังปรับตัวสูงขึ้นหนุนให้กำลังซื้อในภูมิภาคฟื้นตัว ดังเห็นได้จากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนในส่วนสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อยขยายตัวได้ต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีงบลงทุนประจำปีของภาครัฐ 5.5 แสนล้าน งบก่อสร้างเครือข่ายคมนาคมพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1.9 แสนล้านกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยคาดว่าจะลงสู่พื้นที่ภาคใต้ร้อยละ 13 ภาคเหนือร้อยละ 19 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 22 และอีกร้อยละ 45 สู่ภาคกลางและภาคตะวันออก สมทบกับงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 1.2 แสนล้านสำหรับโครงการพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัดตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งหากสามารถเร่งรัดให้เบิกจ่ายในภาพรวมได้ถึงร้อยละ 65-70 ตามเป้าหมาย จะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยเติมเม็ดเงินสู่ระบบและดันให้กำลังซื้อของภาคเอกชนฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ SME ได้โดยตรง
“ภาพรวมปี 2560 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นและงบลงทุนจากภาครัฐถือเป็นปัจจัยหลักกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในระดับท้องถิ่น ดังนั้นปัญหารุมเร้า SME ในปีที่ผ่านน่าจะกำลังผ่านพ้นไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องไม่อยู่เฉยและเร่งปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องเทรนด์ใหม่ๆที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจในปีนี้” นายเบญจรงค์สรุป