- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 30 January 2017 12:02
- Hits: 5167
การส่งออกของไทยพลิกเป็นบวกในรอบ 4 ปี
โดย นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย
การส่งออกและการนำเข้าของไทยเติบโตร้อยละ 6.2 และร้อยละ 10.3 ในเดือนธันวาคม ช่วยสะท้อนการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งจะมาจากการส่งออกทองคำ และราคาน้ำมันปิโตรเลียมที่เพิ่มสูงขึ้น
การส่งออกของไทยพลิกกลับมาเติบโตร้อยละ 0.5 ในปี 2559 หลังจากที่หดตัวสามปีก่อนหน้า โดยการส่งออกไปตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และจีนกลับมาโตขึ้นเล็กน้อยในปี 2559 ขณะที่การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นบวกอยู่ การนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางที่กลับมาเติบโตได้ ส่งสัญญาณที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกในอนาคต ถึงแม้ว่าจะยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท เราคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2560 จะเติบโตที่ร้อยละ 1.6 และอุปสงค์ภายในประเทศน่าจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายนอกยังมีอยู่ และสถานการณ์ที่เงินบาทค่อนข้างแข็งค่า (แม้ว่าจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกระทบต่อคำสั่งสินค้าส่งออก) อาจจะไม่ช่วยหนุนภาคส่งออกมากนักในขณะนี้
เรามองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงขาลง โดยการปราบปรามบริษัททัวร์ที่ผิดกฎหมายที่ผ่านมา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวลดน้อยลงในไตรมาส 4/2559 และสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตั้งแต่เดือนธันวาคมมีแนวโน้มทำให้การฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคล่าช้าออกไปอีก หลังจากที่มีการชะลอตัวจากเหตุการณ์ไว้อาลัยที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นลำดับ และอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อประคองเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป
ในภาพรวม ตัวเลขการค้าที่ประกาศออกมาเป็นเครื่องยืนยันถึงการค่อย ๆ ฟื้นตัวของการส่งออก ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าปัจจัยเฉพาะของไทย เราคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เทียบกับคาดการณ์ของปีก่อนที่ร้อยละ 3.0 นอกจากนี้ เรายังคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในปีนี้ท่ามกลางการเติบโตเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับต่ำ ในขณะเดียวกัน การรอดูสถานการณ์เพื่อความชัดเจนของธปท. สอดคล้องกับจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงต่อไป