- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 19 January 2017 22:46
- Hits: 7027
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองดอลลาร์แข็งค่า ชี้ทรัมป์กระทบตลาดระยะสั้น
ซีไอเอ็มบี ไทย เตือนนักลงทุนยึดเอฟโอเอ็มซีเป็นหลักในการชี้ทิศทางตลาดเงิน มั่นใจทิศทางดอลลาร์ยังแข็งค่า แม้ทรัมป์ส่งสัญญาณป่วนตลาด มองหลังรับตำแหน่งเล็งใช้นโยบายตามที่หาเสียงไว้บางส่วน ระบุการคลังจะเห็นผลเร็ว ขณะที่นโยบายการค้าระหว่างประเทศอาจยังไม่ชัด เหตุกระทบเศรษฐกิจสหรัฐเอง
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ม.ค. นี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยนโยบายของทรัมป์ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งนั้น ธนาคารมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ทรัมป์จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้บางส่วน เพื่อรักษาคะแนนนิยมในช่วงแรก ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ว่าจะทำในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่ง คงหนีไม่พ้นคำขวัญ’Make America Great Again’ นั่นคือการใช้นโยบายการคลังและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยมองว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะเร่งตัวแรง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็ว ขึ้น รวมถึงเงินดอลลาร์แข็งค่า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงจากคำพูดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งการสื่อความของนายทรัมป์อาจจะทำให้ตลาดเกิดความผันผวนในช่วงสั้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการและนักลงทุนควรให้น้ำหนักกับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ที่จะบ่งชี้ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก โดยธนาคารยังมองว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางที่จะแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้
ดร.อมรเทพ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการคลังของทรัมป์จะช่วยสร้างกำลังซื้อในประเทศผ่านการลดภาษี ซึ่งสามารถทำได้เร็วและเห็นผลชัดเจน เมื่อคนธรรมดาและบริษัทจ่ายภาษีลดลงก็จะนำเงินไปใช้จ่าย ไปลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ทรัมป์มีแผนการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งจะกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนอย่างมาก
“นโยบายนี้จะเป็นตัวหลักในช่วง 2 ปีแรกของทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งสส. และสว. บางส่วนที่เรียกว่า Midterm election เพื่อคงฐานเสียงพรรครีพับลิกันไว้ ข้อเสียของนโยบายนี้คือ หนี้ภาครัฐของสหรัฐจะเร่งตัว ราคาสินทรัพย์แพงขึ้น ภาวะฟองสบู่กำลังเกิดอีกครั้ง”
ขณะที่นโยบายการค้าระหว่างประเทศหรืออีกนัยหนึ่งคือนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อให้บริษัทต่างๆ หันกลับมาลงทุนในสหรัฐมากขึ้น และลดการนำเข้าลงนั้น เชื่อว่าจะไม่ได้รับการผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการให้กระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบันชีประเทศจีนว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งจะมีผลทำให้สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าได้ถึง 45% อันจะกระทบการส่งออกของจีนอย่างมาก แต่ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวอาจกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐเองในที่สุด
“แม้ส่วนใหญ่จะกังวลว่าจีนจะมีปัญหาจากนโยบายดังกล่าว แต่ผมมองว่านี่เป็นการขู่มากกว่า เพราะไม่ใช่จีนพึ่งสหรัฐอย่างเดียว สหรัฐก็พึ่งจีนเช่นกัน ดังเห็นได้จากสหรัฐพึ่งสินค้าจากจีนถึง 20% ของการนำเข้าทั้งหมด หากสินค้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบและค่าครองชีพของคนสหรัฐเพิ่มสูงตาม ซึ่งสุดท้ายจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสะดุดลงได้ นอกจากนี้จีนก็มีวิธีการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน ด้วยการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาจีนเทขายต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น ซึ่งก็คือต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะสูงขึ้นตาม และอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐสะดุดลงได้”
ดร.อมรเทพ ยังกล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นจาก ‘Make America Great Again’ แต่เศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยอาจจะไม่ได้ Great หรือยิ่งใหญ่ตามสหรัฐ ซึ่งไทยเราก็ควรต้องหันกลับมาถามตัวเราเองว่า จะทำอย่างไรให้ไทยกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หรือ Make Thailand Great Again อย่างน้อยก็ให้เอกชนไทยหันมามีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น เพราะหากเราไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งจากภายในได้แล้ว เราคงหนีไม่พ้นจะเป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมของทรัมป์แน่ๆ
“ช่วงเดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้แสดงจุดยืนในการกดดันบริษัททั้งของสหรัฐและประเทศอื่นให้กลับมาตั้งโรงงานในสหรัฐ แต่จะทำได้สักเท่าไร บริษัทจะคุ้มทุนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกัน หรือนี่อาจเป็นทฤษฎีเกม (Game Theory) ที่ผู้เล่นต้องพยายามไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าเราคิดอะไร เพราะการที่เขาคาดเดาเราได้ยากเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีโอกาสได้ผลประโยชน์เหนือคู่แข่ง ซึ่งบ่อยครั้ง คนมักจะมองทรัมป์เป็นคนบ้า แต่ผมมองเขาเป็นนักธุรกิจที่แยบยล อย่างน้อยเขาก็ก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของชาติมหาอำนาจของโลกได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเขาพร้อมเดินเกมท้าชนประเทศอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสหรัฐมากขึ้น โดยชาติอื่นอาจต้องยอมอ่อนข้อให้ในช่วงแรก ซึ่งก็จะมีผลให้การค้าโลกชะลอลง อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่ความชัดเจนยังมีไม่มากนัก”ดร.อมรเทพ กล่าว