- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Tuesday, 17 January 2017 08:34
- Hits: 4792
ซิป้า จับมือสถาบันการเงิน หนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินค้ำประกันหนึ่งหมื่นล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า จับมือร่วมกับสถาบันการเงินได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในวงเงินที่ภาครัฐอนุมัติเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดปี 2561 โดยตั้งเป้ามีผู้ประกอบการมาขอจดทะเบียนเข้าโครงการค้ำประกันเงินกู้ในปี 2560 ประมาณ 400 ราย
นายชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี ผู้จัดการฝ่ายมาตรการส่งเสริม สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่าแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลทางซิป้ามีมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ไอซีทีโดยแบ่งมาตรการส่งเสริมออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีโดยร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์ทาง BOI ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์นี้จะได้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ เมื่อประกอบธุรกิจได้กำไรยังไม่ต้องเสียภาษีประจำปี ผู้ประกอบการยังมีเงินสดอยู่ในมือมีสภาพคล่องที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้
2. เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยทางซิป้าจะมีทีมคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับจดแจ้งลิขสิทธิ์เพื่อป้องกันการถูกระเมิด ซึ่งถ้าดำเนินการผ่านซิป้าจะใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ จากระยะเวลาปกติจะใช้เวลา 1-2 เดือน และจะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่เรียกว่าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ
3. การสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นความคืบหน้าครั้งล่าสุดภายใต้ความร่วมมือระหว่างซิป้าและสถาบันการเงินพันธมิตรได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และเอสเอ็มอีแบงค์
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยได้ออกผลิตภัณฑ์สนับสนุน อาทิ เรื่องการโอนสิทธิ์การรับเงิน สัญญาให้ทุน สัญญาร่วมทุน สัญญาจ้าง คือถ้าผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถนำสัญญาไปกู้เงินกับกสิกรไทยได้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็จะพิจารณาเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยใช้สัญญากับซิป้าเป็นตัวค้ำประกันไม่ต้องมีหลักทรัพย์อย่างอื่น รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เรื่องการกู้เงินแบบ Clean Loan โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ซึ่งปกติอัตราดอกเบี้ยการกู้เงินประเภทนี้จะคิดในอัตราค่อนข้างสูง แต่โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ ทางซิป้าได้ส่วนลดลงมาในอัตราต่ำลงมา รวมทั้งปัจจุบันทางซิป้ายังได้รับความอนุเคราะห์จากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการที่เรียกว่า Startup Innovation วงเงิน 10,000 ล้านบาท มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก โดยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์หรือผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ ทั้งที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าและผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้ซอฟต์แวร์สามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้ ด้วยการแสดงตัวตน มีผลิตภัณฑ์ มีลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 1 ราย ในระยะเวลา 2 ปี และเป็นบริษัทคนไทยมีคนไทยถือหุ้นเกิน 51% โดยในปี 2559 ซิป้าคาดว่าจะมีผู้ประกอบการด้านไอซีทีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 200 ราย และตั้งเป้าในปี 2560 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 400 ราย รวม 2 ปีจะมีผู้ประกอบการไอซีทีเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 600 ราย
ด้านนายชัยยศ ตันพิสุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และกระบวนการธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการธนาคารกสิกรไทย กล่าววว่า สำหรับความกังวลกรณีจะทำให้เกิดหนี้เสียนั้น ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการปล่อยสินเชื่อทางธนาคารกสิกรไทยมีการคัดและตรวจสอบขั้นตอนเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการเวิเคราะห์เครดิต ตรวจสอบเครดิตบูโร โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีหลายระดับ อาทิ ถ้าผู้ประกอบการรายใดมีสภาพคล่องทางการเงินก็สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์เป็นของตัวเองได้ทันที
ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่พร้อมขาดสภาพคล่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาจจะต้องจ้างโปรแกรมเมอร์มาเขียนโปรแกรมให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งตัวอย่างนี้ทางธนาคารก็ให้การสนับสนุนด้วย แต่ถ้าวงเงินกู้ของผู้ประกอบการวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท แต่มีตัวเลขใช้ซอฟต์แวร์เพียงแค่ 30,000 บาท ซึ่งก็ต้องพิจารณาความสมเหตุสมผลด้วย โดยจะมีการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับซิป้า เพราะซิป้ามีประสบการณ์เรื่องซอฟต์แวร์จึงสามารถบอกได้ว่าสมเหตุผลหรือไม่
"โจทย์ใหญ่ของการสนับสนุนผู้ประกอบการไอซีทีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกิดการขยายตัว ซึ่งการสนับสนุนในปีแรกๆ อาจจะได้ผลไม่มาก แต่เมื่อผ่านไปปีที่สอง ปีที่สามเชื่อว่าโครงการฯ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและรัฐบาลให้การสนับสนุนอนุมัติงบประมาณให้ทุกปี ซึ่งก็จะสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1,000ราย ได้" นายชัยณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย