- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 17 December 2016 17:08
- Hits: 4887
จากนี้ไปรายงานของผู้สอบบัญชี จะเป็นเรื่องแรกที่ทุกคนต้องอ่าน
ในขณะที่รายงานของผู้สอบบัญชีพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 40 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยุครายงานแบบสองวรรคจนปัจจุบันเป็นรายงานแบบหกวรรค และกำลังจะปรับโฉมอีกครั้งสำหรับงบการเงินที่สิ้นสุดรอบปีบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าผู้ใช้งบการเงินส่วนใหญ่จะสามารถเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในรายงานนั้นได้มากน้อยเพียงใด
คุณประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชี เปิดเผยว่า "รายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้ใช้งบการเงินน่าจะชอบรายงานของผู้สอบบัญชีแบบใหม่มากกว่าแบบหกวรรค เพราะให้ข้อมูลเชิงคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งปรับวรรคความเห็นขึ้นมาอยู่เป็นวรรคแรก เสมือนเป็น Executive Summary แต่อย่างไรก็ดี หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ใช้งบการเงินต้องรู้จักวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นแล้วเชื่อมโยงไปกับธุรกิจและตัวเลขในงบการเงิน มิใช่มองแต่เพียงว่ารายงานของผู้สอบบัญชีเป็นกระดาษที่จะอ่านแค่ให้ทราบว่าผู้สอบบัญชีมีความเห็นต่องบการเงินอย่างไร"
การปรับโฉมรายงานของผู้สอบบัญชีครั้งนี้ สอดคล้องกับหลักการของ IAASB ในหลายประเทศ อาทิเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และสหราชอาณาจักร ก็ได้ปรับใช้แนวทางนี้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่สำคัญของวิชาชีพสอบบัญชีเสมือนว่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคทองแห่งวงการสอบบัญชีเลยก็ว่าได้ เพราะรายงานของผู้สอบบัญชีโฉมใหม่จะให้ข้อมูลที่มีคุณค่ามากขึ้นและเพิ่มความโปร่งใสให้กับงบการเงินยิ่งขึ้น โดยหลักๆ ได้เพิ่ม "วรรคเรื่องสำคัญในการตรวจสอบ" (Key Audit Matter) หรือเรียกย่อๆ ว่า KAM ซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจถึงจุดเสี่ยงในกิจการนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเปิดเผยเบื้องหลังการทำงานของผู้สอบบัญชีให้ทราบ และรายงานผลการตรวจสอบที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งกรณีที่มีเหตุการณ์ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญแม้ว่าผู้สอบบัญชีได้หลักฐานและสรุปผลว่าไม่มีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญแล้ว แต่ก็ยังกำหนดให้เพิ่มเติม "วรรคความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง" ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจกิจการอย่างเต็มที่ รายงานของผู้สอบบัญชีโฉมใหม่จึงเปรียบเสมือน Executive Summary ที่ต้องการสื่อสารข้อมูลการตรวจสอบซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งบการเงินมากที่สุด
การพัฒนาที่สำคัญนี้เป็นเหมือนนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งต้องอาศัยความใส่ใจและการพิจารณาอย่างระมัดระวังของทุกกลุ่มทั้งกลุ่มผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงิน ได้แก่ ผู้บริหาร กรรมการตรวจสอบ ฝ่ายบัญชีการเงิน และผู้สอบบัญชี รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแล และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันและทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะทุกกลุ่มมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการเปิดเผยข้อมูลนั้น อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินได้ต้องประสานระหว่างความเข้าใจธุรกิจที่ลึกซึ้งและหลักการเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสม โดยในระหว่างปี 2559 ส่วนใหญ่แล้วผู้สอบบัญชีและกลุ่มผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงินก็ปรึกษาหารือกันในเรื่องดังกล่าวหรือที่เรียกว่า กระบวนการ dry run เพื่อให้การสื่อสารข้อมูลในรายงานของผู้สอบบัญชีมีประสิทธิผลที่คุ้มค่า อย่างไรก็ดี ปีแรกของการใช้รายงานของผู้สอบบัญชี ทุกกลุ่มก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากภาระค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องใช้ในการจัดทำที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญ คือ แรงกดดันต่อการพัฒนาทักษะของบุคลากรในวิชาชีพบัญชีให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและบทบาทที่มากขึ้น แต่ก็คาดว่าทุกกลุ่มนั้นสามารถบริหารจัดการแรงกดดันนั้นได้
สำหรับ ผู้ใช้งบการเงินในปัจจุบัน ถึงแม้จะมั่นใจว่าทุกคนเห็นความสำคัญของรายงานของผู้สอบบัญชีและเชื่อถืองบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบแล้วมากกว่างบการเงินที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่ก็มักจะอ่านรายงานของผู้สอบบัญชีแบบผ่านๆ และสนใจเพียงวรรคความเห็นว่าเป็นแบบไหน อาจเป็นเพราะรายงานของผู้สอบบัญชีของแต่ละกิจการนั้นคล้ายกันไปหมด เป็นข้อความซ้ำๆ (boilerplate) แต่จากนี้ไปผู้ใช้งบการเงินควรพิจารณารายงานของผู้สอบบัญชีอย่างถี่ถ้วน ทำความเข้าใจในข้อความที่แสดงอยู่ในวรรคต่างๆ ของรายงานของผู้สอบบัญชี แล้ววิเคราะห์เชื่อมโยงไปกับธุรกิจและตัวเลขในงบการเงินจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด อาทิ ควรเข้าใจว่า KAM เป็นการให้ข้อมูลความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่สุดของแต่ละกิจการ และแสดงถึงวิธีการตรวจสอบหรือการจัดการความเสี่ยงนั้นจนไม่ส่งผลกระทบกับความเห็นต่องบการเงิน แล้ววิเคราะห์เชื่อมโยงการเปิดเผยข้อมูลอ้างอิงในงบการเงินที่ระบุไว้ใน KAM ไปกับการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่แท้จริงของความเสี่ยงนั้นต่อกิจการแล้วนำไปประกอบการวางแผนการลงทุน นอกจากนี้การวิเคราะห์ประเด็นจำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลในแต่ละวรรค เช่น ประเด็นการดำเนินงานต่อเนื่อง ต้องพิจารณาทั้งวรรคความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง วรรคความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล วรรคความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีต่อการตรวจสอบงบการเงิน วรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นและวรรคความเห็นควบคู่ไปกับข้อมูลภายนอกและข้อมูลในงบการเงินจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
ในอนาคตอันใกล้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมองว่างบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่น่าติดตามถึงกระแสตอบรับของผู้ใช้งบการเงินทุกกลุ่มต่อโฉมใหม่ของรายงานของผู้สอบบัญชีว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด