- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 28 November 2016 22:46
- Hits: 12857
PwC เผยแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อวิชาชีพผู้สอบบัญชีและวิธีการทำบัญชี หลังระบบคลาวด์
และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น ชี้เสี่ยงทำให้งานนักบัญชีบางประเภทจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุมาตรฐานบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง TFRS 15 และ TFRS 16 จะส่งผลกระทบต่องบการเงินและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการ แนะผู้บริหารศึกษาและทำความเข้าใจ ก่อนวางแผนรับมือ-เตรียมบุคลากรให้พร้อม
PwC เผยมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่-ความก้าวหน้าทางดิจิทัลกระทบธุรกิจไทย แนะเตรียมรับมือให้พร้อม
PwC เผยแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลกระทบต่อวิชาชีพผู้สอบบัญชี และวิธีการทำบัญชีหลังระบบคลาวด์และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น ชี้เสี่ยงทำให้งานนักบัญชีบางประเภทจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุมาตรฐานบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง TFRS 15 และ TFRS 16 จะส่งผลกระทบต่องบการเงินและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการ แนะผู้บริหารศึกษาและทำความเข้าใจ ก่อนวางแผนรับมือ-เตรียมบุคลากรให้พร้อม
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาการรายงานทางการเงินครั้งที่ 14 ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “เตรียมรับมือความท้าทายของนักบัญชีในโลกอนาคต” ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลและส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่วิชาชีพผู้สอบบัญชี โดยการเข้ามาของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น ระบบการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติ คลาวด์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อวิธีการทำบัญชีในอนาคตทั้งสิ้น ซึ่ง PwC คาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้วิธีการ กระบวนการทำบัญชี รวมไปถึงการใช้ข้อมูลทางบัญชีจะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าหลักการทางบัญชีนั้นจะคงเดิม
“เรามองว่ามีโอกาสสูงมากที่อาชีพหรืองานประจำบางประเภท รวมถึงงานที่ไม่มีความซับซ้อนมากๆ จะถูกแทนที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า”นาย ศิระ กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ PwC ออสเตรเลีย ที่ผ่านมา ระบุว่า เสมียนหรือผู้ช่วยทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสาร ผู้ทำบัญชี พนักงานบันทึกข้อมูล และพนักงานธุรการสำนักงาน ถือเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความเสี่ยงมากที่สุดจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ นาย ศิระ ยังมองว่า ในปัจจุบันระบบบัญชีออนไลน์แบบคลาวด์ (Cloud accounting software) กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มบริษัทขนาดกลางถึงขนาดย่อม เนื่องจากใช้งานง่ายและมีความคล่องตัวสูง เพราะสามารถเชื่อมต่อการใช้งานผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart device) และแบบฟอร์มการทำบัญชีสำเร็จรูป อีกทั้งค่าธรรมเนียมเริ่มต้น และการลงทุนระบบโครงสร้างอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นทีมนักบัญชีแบบคนเดียว
ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Data analytics) ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำบัญชีมากขึ้น โดยจะถูกใช้ในการจัดทำรายงานทางบัญชีประจำปี หรือรายไตรมาส และช่วยให้นักบัญชีเห็นภาพรวมจากการประมวลข้อมูลเชิงลึกของบริษัทเพื่อใช้ประกอบรายงานทางการเงินได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการประพฤติมิชอบหรือเหตุฉ้อโกงทางบัญชีต่างๆ รวมทั้งสามารถช่วยคาดการณ์หรือตั้งเป้าการเติบโตทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
“ปัจจุบัน นักบัญชีสามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการข้อมูลจำนวนมากผ่านระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย หรือ Predictive analytics และการใช้ภาพเพื่อแสดงข้อมูล หรือ Data visualisation เพื่อช่วยลูกค้าและผู้บริหารตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่มีความซับซ้อน ด้วยความที่การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมีการนำมาใช้และถูกพัฒนามากขึ้นนี่เอง เรามองว่า ในอนาคตอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มหลักสูตรความเชี่ยวชาญในด้านนี้กับสถาบันการศึกษาและวิทยาลัยการบัญชีที่เกี่ยวข้องด้วย”นาย ศิระ กล่าว
เตรียมรับมือผลกระทบเบร็กซิท-การเมืองสหรัฐฯ
นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การลงประชามติแยกตัวจากสหภาพยุโรป หรือ อียู ของสหราชอาณาจักร (Brexit) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ หรือการดำเนินงานของบริษัทย่อย หรือสาขาในประเทศดังกล่าว รวมไปถึงผลกระทบทางอ้อมจากบริษัทคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอาจมีความผันผวนในระยะสั้น ดังนั้น บริษัทที่มีเงินลงทุนในตลาดเงิน และ ตลาดทุน หรือผู้ประกอบการค้าสกุลเงินตราต่างประเทศ อาจต้องพิจารณาการด้อยค่าของเงินลงทุน หรือรับรู้ส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
“ในระยะสั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากทั้งฝั่งอังกฤษและสหรัฐฯ คงยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนและอาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน โดยเฉพาะในส่วนของสหรัฐฯ คงต้องรอดูทิศทางและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในปีหน้าว่า จะออกมาเป็นเช่นไร อย่างไรก็ดี ในระยะกลางถึงระยะยาว เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอาจต้องกลับมาทบทวนแผนธุรกิจในด้านต่างๆ รวมทั้งการขยายตลาด การรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่และขอบเขตทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร แม้ไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ภาคธุรกิจต้องติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพราะบางนโยบายที่มีการคาดการณ์ว่าจะถูกนำมาใช้ อาจกระทบต่อการประกอบธุรกิจในตลาดเดิม หรือการลงทุนในตลาดใหม่ รวมไปถึงกำแพงภาษีหรือข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้”นาย ชาญชัย กล่าว
มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่... ความท้าทายที่รออยู่
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า บริษัทไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชี โดยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย (TFRS) ฉบับใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทไทยมี 2 ฉบับ คือ TFRS 15 เรื่องรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 และ TFRS 16 เรื่องสัญญาเช่า ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563
สำหรับ TFRS 15 นั้น มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและหลักการรับรู้รายได้ คือ ให้รับรู้รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการตามสิ่งที่ได้โอนไปให้ลูกค้า โดยไม่มีการแยกโมเดลการรับรู้รายได้เป็นขั้นความสำเร็จของงานเหมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการกำหนดให้พิจารณาภาระที่ต้องปฏิบัติ (Performance obligations) ว่า มีรายการสินค้าและบริการที่เป็นรายการแยกต่างหากกี่รายการ และพิจารณาราคาของรายการ (Transaction price) เช่น หากกิจการมีการให้ หรือคาดว่าจะให้ส่วนลด เงินคืน ค่าตอบแทนที่คิดจากยอดขายในอนาคต ค่าปรับ หรือ การคืนสินค้า กิจการจะต้องรับรู้รายได้ในจำนวนเงินขั้นต่ำที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงว่ากิจการจะได้รับจริง รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงประมาณการจำนวนเงินดังกล่าว ทุกรอบระยะเวลาการรายงาน
“TFRS 15 ฉบับใหม่จะส่งให้วิธีการรับรู้รายได้ หรือจำนวนเงินรายได้ที่รับรู้ในแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยนอกจากจะกระทบต่อตัวเลขทางการเงินแล้ว ยังคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อขั้นตอน วิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลที่ควรจัดเก็บอีกด้วย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการรายงานทางการเงิน” นาย ชาญชัย กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้รายได้ ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าส่ง ค้าปลีก ยานยนต์ รับจ้างผลิตสินค้า ต่อเรือ และ โทรคมนาคม เป็นต้น ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมโดยประเมินผลกระทบ และปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการจัดเก็บข้อมูล ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ส่วน TFRS 16 นั้นคาดว่า จะกระทบต่อกิจการที่เป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงานเกือบทุกกิจการ เพราะภายใต้หลักการใหม่ กิจการผู้เช่าจะต้องรับรู้สิทธิในการใช้สินทรัพย์ หนี้สินตามสัญญาเช่าที่เข้ามาในงบดุล การตัดจำหน่ายสิทธิในการใช้สินทรัพย์ และรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สินตามสัญญาเช่าด้วยวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าว จะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงิน และการจัดประเภทรายการในงบการเงินของกิจการผู้เช่า ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้น กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงขึ้น กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานสูงขึ้น และกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินลดลง แม้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจก็ตาม
“หากผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมความพร้อม และสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารผู้ให้กู้ เพราะจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ รวมถึงนักลงทุนทั้งรายใหญ่ และรายย่อย อาจทำให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่กิจการได้”นาย ชาญชัย กล่าว
นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาตรฐานการบัญชีชุดเล็กในส่วนของกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (TFRS for SMEs) ยังอาจส่งผลกระทบต่อกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เป็นการปรับเปลี่ยนหลักการ วิธีคิด และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น ยกเว้นในบางรายการ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ต้องวัดที่มูลค่ายุติธรรม การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ต้องวัดมูลค่ายุติธรรม การพิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่ต้องประมาณการกระแสเงินสดหรือหามูลค่ายุติธรรม เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
ระยะที่ 2 เป็นข้อกำหนดใหม่ที่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญและต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว เช่น งบกระแสเงินสด โปรแกรมสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า ผลประโยชน์พนักงาน และ ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ระยะที่ 3 เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมมาก เนื่องจากในบางเรื่องเป็นเรื่องที่ TFRS ก็ยังไม่ได้บังคับใช้ ได้แก่ เครื่องมือทางการเงิน การจัดประเภทหนี้สินทางการเงินและส่วนของเจ้าของ และการพิจารณาสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมมาก จึงให้มีผลบังคับใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
ทั้งนี้ นาย ชาญชัย กล่าวว่า กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะทุกกิจการน่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานฉบับดังกล่าว จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าเป็นกิจการที่ซับซ้อนหรือไม่ โดยกิจการที่ไม่ซับซ้อน เช่น กิจการที่ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม และ บริษัทร่วมค้า จะได้รับการยกเว้นการบังคับใช้ในบางเรื่อง เช่น การด้อยค่าของสินทรัพย์ รายการที่มีเนื้อหาของสัญญาเช่า และ ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เป็นต้น
“การเปลี่ยนมาใช้มาตรฐาน TFRS for SMEs นั้นจะส่งผลดีกับกิจการที่ต้องการแหล่งเงินทุน เช่น การยื่นขอกู้ยืมเงิน การออกหุ้นกู้ การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่มีแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาการเตรียมความพร้อมในการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐาน TFRS” นาย ชาญชัย กล่าว
นาย ชาญชัย กล่าวสรุปว่า แม้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและมีการเตรียมรับมือกับผลกระทบได้ดีกว่าและรวดเร็วกว่า ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้บริหารควรศึกษา ทำความเข้าใจ และตามให้ทันกระแสเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ รวมทั้งมาตรฐานทางการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่องบการเงิน และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจมีผลต่อแผนธุรกิจและนโยบายการค้าและการลงทุนของตน เพื่อปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องและพลิกผลกระทบเชิงลบให้กลับมาเป็นบวก รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับกิจการต่อไป
เกี่ยวกับ PwC
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย
©2016 PwC. All rights reserved.
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณ พลอย เทน เคท
มือถือ: +6689 891 6158
อีเมลล์: [email protected]
คุณ ปฐมาวดี ศรีวงษา
มือถือ: +6689 894 1668
อีเมลล์: [email protected]
คุณ ปิยะณัฐ สวนอภัย
มือถือ: +6681 551 1004
อีเมลล์: [email protected]
คุณ วรารัตน์ วีระคงสุวรรณ
มือถือ: +6695 916 6245
อีเมลล์: [email protected]
คุณ กุลธิดา เด่นวิทยานันท์
มือถือ: +6681 838 4410
อีเมลล์: [email protected]