- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 29 October 2016 15:04
- Hits: 5895
แบงก์โลกปรับเพิ่มอันดับทำธุรกิจไทย
บ้านเมือง : นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า รายงาน Doing Business ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 46 ซึ่งอยู่ใน 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจจาก 190 ประเทศทั่วโลกโดยรวมแล้ว ประเทศไทยสามารถลดช่องว่างในการดำเนินงานและช่วงห่างจากประเทศชั้นนำต่างๆ โดยได้รับคะแนนจากรายงาน Doing Business 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 72.53 คะแนนในปี 60 จากเดิม 71.65 คะแนน
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจด้วยการดำเนินการปฏิรูป 3 ด้านในปีที่ผ่านมา ได้แก่ การช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยสะดวกขึ้นด้วยการสร้างระบบการบริการจ่ายเงินลงทะเบียนไว้ที่จุดเดียวกัน และยังลดระยะเวลาในการขอรับตราประทับของบริษัท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลด้านสินเชื่อโดยเริ่มให้ข้อมูลคะแนนสินเชื่อแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน รวมถึงทำให้การแก้ไขปัญหาการล้มละลายรวดเร็วขึ้นด้วยการปรับโครงสร้างของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมใหม่ และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับชำระบัญชีของบริษัทให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
"ประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น...ประเทศไทยสามารถปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วยการให้ความ
สำคัญกับการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ยังจะช่วยให้คนไทยมีงานทำและเป็นงานที่ดีขึ้นด้วย" นายอูลริค กล่าว
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมากกว่า 2 ใน 3 จากทั้งหมด 25 ประเทศได้ดำเนินการปฏิรูป 45 เรื่อง ในปีที่ผ่านมาทำให้การประกอบธุรกิจในภูมิภาคนี้มีความสะดวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ทำการปฏิรูปโดยเฉลี่ย 28 เรื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ดำเนินการปฏิรูปเพิ่มขึ้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจสะดวกยิ่งขึ้น
โดย 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ได้รับการจัดให้อยู่ใน 10 ลำดับแรกของโลกได้แก่ นิวซีแลนด์ (1) ตามด้วย สิงคโปร์ (2) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (4) และ เกาหลีใต้ (5)
"การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ทำการปฏิรูปในด้านต่างๆ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจให้ดีขึ้น จากที่ได้มีการปฏิรูปที่สำคัญตั้งแต่ปีก่อน เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยังคงมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดบรรยากาศทางธุรกิจที่สะดวกสำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่น" นางริต้า รามาลโฮ ผู้จัดการ รายงาน Doing Business กล่าว
ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลังขจัดอุปสรรคลงทุนไทยติดอันดับ 46 ทำธุรกิจสะดวก
แนวหน้า : ธนาคารโลกขยับอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของไทยดีขึ้น 3 อันดับรวด จาก 49 มาอยู่ที่ 46 ของโลก และเป็นที่ 3 ของ อาเซียน ก.พ.ร.เตรียมนัดถก "สมคิด" เดินหน้าปรับแก้จัดการอุปสรรคต่อ หวังผลก้าวกระโดด เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้จัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือ Doing Business 2017 ของประเทศไทย โดยได้ขยับขึ้น 3 อันดับรวด จาก 49 เป็นอันดับที่ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน มีผลคะแนนรวมทุกด้าน 72.53 คะแนน จาก 71.65 คะแนน ซึ่งดีขึ้น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จากอันดับ 96 เป็นอันดับ 78 ด้านการได้รับสินเชื่อ จากอันดับ 97 มาเป็น 82 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน จากอันดับ 36 มาเป็นอันดับ 27 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงจากอันดับ 57 มาเป็น 51 และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลายจากอันดับ 49 มาเป็นที่ 23
การจัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจในปีนี้ที่มีผลอันดับดีขึ้นเป็นผลมาจากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและร่วมผลักดัน ลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจให้น้อยลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงบริการตามรายงาน Doing Business โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลในภาพรวม และมอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลในด้านการปรับปรุงกฎหมาย ส่วนนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมให้สำนักงาน ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานหลักในการประสานติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน
ปัจจัยที่ทำให้อันดับของประเทศไทยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การพัฒนากลไกในการ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงตามรายงาน Doing Business ได้แก่ การตั้งคณะทำงานพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนงานบริการภาครัฐ 2.การบูรณาการงานบริการภาครัฐโดยศึกษาวิเคราะห์กระบวนงานให้บริการที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ต้นจนจบ และออกแบบแนวทางการพัฒนากระบวนงาน เพื่อให้บริการแบบครบวงจร และ3.ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้นำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการบริการในเรื่องสำคัญหลายเรื่องเช่นการเริ่มต้นธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จ,การจดทะเบียนทรัพย์สินผ่านระบบ land map ที่ทางกรมที่ดินได้พัฒนา
ด้านการได้รับสินเชื่อ โดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ได้จัดทำและให้บริการคะแนนเครดิต แก่สถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินสามารถสืบค้นรายงานข้อมูลเครดิตเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อได้ง่าย,การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกรมศุลกากรได้พัฒนาระบบบริการนำเข้าสินค้า การตรวจปล่อยสินค้าล่วงหน้ามาใช้ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยกรมบังคับคดีได้พัฒนาระบบ e-filimg ให้สามารถยื่นคำร้องขอชำระค่าใช้จ่ายผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้เกิดความสะดวกและลดภาระต่อภาคธุรกิจและประชาชน
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจและประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ,พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ, พ.ร.บ.ล้มละลาย ทำให้ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการบังคับคดีล้มละลายลงและช่วยเหลือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โดยในกฎหมายล้มละลายนี้ทำให้อันดับของกลุ่ม ดังกล่าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย หรืออยู่อันดับ 23 ของโลก จาก 49
แต่ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือการขออนุญาตในการก่อสร้าง และการเข้าไปใช้พื้นที่ในอาคาร ซึ่งยังใช้เวลานาน เช่นเดียวกับการขอใช้ไฟฟ้า การชำระภาษีต่างๆที่มีอยู่หลายประเภท โดยเฉพาะการขอคืนภาษีที่ยังคงใช้เวลานาน โดยในอีก 1-2 สัปดาห์นี้ จะหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการปรับปรุงเรื่องต่างๆให้ดีมากขึ้นในปีหน้า และให้เกิดผลอย่างก้าวกระโดด สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รวมถึงให้เกิดความมั่นใจนักลงทุนได้
นายทศพร ย้ำว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการคือระบบการชำระภาษี ซึ่งในส่วนนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ในฐานะเป็นผู้เกี่ยวข้อง หลักของเรื่องดังกล่าวได้รับทราบและจะนำไปแก้ไขแล้ว และจะเร่งตั้งศูนย์รวมรับขออนุญาตทำธุรกิจ หรือวันสต็อปเวอร์วิส ให้เชื่อมโยงกันทั้งหมด เพื่อลดเอกสาร ลดขั้นตอน และลดเวลา โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน ระยะสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ให้มาอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน และในปีหน้านายสมคิด ได้ตั้งเป้าหมายอยากเห็นอันดับของไทยขึ้นมาอยู่ต่ำกว่า 40
"จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและความตั้งใจของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งปรับปรุงการบริการภาครัฐ ส่งผลให้การจัดอันดับของประเทศในรายงาน Doing Business 2017 มีอันดับที่ดีขึ้น แต่ภาครัฐยังต้องเพิ่มอัตราเร่งในการพัฒนาการบริการให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นและ การปฏิรูปที่สำคัญในภาพใหญ่ เพื่อให้ก้าวทันต่อการพัฒนาของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับต้นๆต่อไป"
นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วยการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้การดำเนินการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ยังจะช่วยให้คนไทยมีงานทำ และเป็นงานที่ดีขึ้นด้วย