- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 06 August 2016 17:44
- Hits: 9131
สำนักวิจัย ธ. ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ความร่วมมือกลุ่ม RCEP เป็นโอกาสทองของประเทศ กระตุ้นไทยเดินหน้า ... ควบคู่กับการสลายจุดอ่อนจากข้อตกลง TPP พร้อมฟันธง ASEAN ไม่ซ้ำรอย EU
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ภายในปีนี้หรือปีหน้าจะได้เห็นการผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค มากยิ่งขึ้น ซึ่ง RCEP เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศ กับอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการลดข้อกีดกันทางการค้ากับภูมิภาค
นอกจากนี้ ไทยเองต้องพยายามเดินหน้าความร่วมมือกับกับประเทศในเอเชียมากขึ้นเพื่อลดแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯกำลังจะเปลี่ยนนโยบายการค้า มาเน้นผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น และลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศลง ซึ่งนโยบายนี้ของสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จากการที่ไทยเป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ และไทยเป็นคู่ค้าของจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ
ขณะที่ การรวมกลุ่ม TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก กำลังจะกลายเป็นจุดแข็งของไทยจากเดิมที่เคยเป็นจุดอ่อน จากการที่ผู้ท้าชิงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากทั้งพรรครีพับลิกัน (โดนัลด์ ทรัมป์) และพรรคเดโมแครต (ฮิลลารี่ คลินตัน) ต่างแสดงจุดยืนด้านนโยบายว่าไม่ต้องการ TPP เพราะต้องการให้สหรัฐกลับมาเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าภายในประเทศมากกว่าพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ
นโยบายดังกล่าวของผู้ท้าชิงทั้ง 2 คนจะช่วยสลายจุดอ่อนของไทยในเชิงนโยบายการค้า สืบเนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ TPP ตั้งแต่ต้น ส่งผลให้ไทยเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่เวียดนามซึ่งเข้าร่วมกับ TPP ขณะเดียวกันประเทศที่เข้าร่วม TPP อย่างญี่ปุ่นอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามหรือประเทศอื่นๆที่เข้าร่วม TPP ได้ แต่ถ้าสหรัฐฯดำเนินนโยบายไม่ต้องการ TPP ขึ้นมา ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยยังมีอยู่ จากการที่ไทยมีพรมแดนเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโต และนักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์การลงทุน
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบการรวมกลุ่ม RCEP กับการรวมกลุ่ม TPP จะพบข้อแตกต่าง โดยการรวมกลุ่ม RCEP ยังมีข้อกังวล เรื่องการมีจำนวนสมาชิกค่อนข้างมาก (16 ประเทศ) เมื่อเทียบกับ TPP (12 ประเทศ) และบางประเทศไม่เคยทำ FTA กันมาก่อน เช่น อินเดียจับคู่กับจีน ทำให้เมื่อเวลานำสินค้ามาลดภาษีร่วมกันจึงต้องมีการยืดหยุ่นก่อน ก่อนจะลดลงเหลือศูนย์ในที่สุด นอกจากนี้ หลายประเทศในอาเซียนมักเจรจาร่วมกันเป็นทีม จึงอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ อีกทั้งยังไม่คุ้นกับการเปิดเสรีมากนัก อย่างไรก็ตาม RCEP เป็นโอกาสดีของไทย ไทยจึงควรเดินหน้าความร่วมมือให้เร็วทันปีนี้หรือภายในปีหน้า
นายอมรเทพ กล่าวว่า แม้ RCEP จะเป็นโอกาส และการไม่เอา TPP คือการสลายจุดอ่อนของไทย แต่ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากสหรัฐ และความผันผวนของตลาดการเงินโลก
ความเสี่ยงจากสหรัฐฯ คือ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์วังวนเพดานหนี้เมื่อปี 2013 ซ้ำรอยอีกครั้ง โดยเฉพาะถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีอาจเสี่ยงที่จะมีการใช้งบประมาณค่อนข้างมาก จนลุกลามเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้ ขณะที่นโยบายการเงินไม่น่าเปลี่ยนแปลง สหรัฐฯน่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อนจนกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจะมีความชัดเจน
สำหรับ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวหรือลดการนำเข้า ได้แก่ กัมพูชาเพราะเป็นประเทศที่พึ่งพิงเศรษฐกิจสหรัฐฯมากที่สุด โดยกัมพูชามีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ 23% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็นเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ 21% และ 15% ตามลำดับ ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ ไทยซึ่งมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯประมาณ 13% รวมถึงประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วยเพราะสหรัฐฯเป็นตลาดหลัก จึงต้องจับตาว่าไทยและอาเซียนจะหันไปพึ่งพาตลาดใดทดแทนการชะลอตัวลงของตลาดสหรัฐฯ
“ในโอกาสที่วันอาเซียน (ASEAN Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ส.ค.ของทุกปีเวียนมาบรรจบครบรอบอีกปี สำนักวิจัยฯมองการเติบโตของ ASEAN ในอนาคตว่า ไม่ว่าเราจะมีปัญหาอุปสรรคจากการค้าโลก เรื่อง TPP เรื่อง RCEP หรือเรื่องที่หลายๆประเทศสมาชิกมีความเห็นไม่ลงรอยกันเรื่องของทะเลจีนใต้ อย่างไรก็แล้วแต่ เรายังเชื่อว่า ประเทศในอาเซียนยังคงดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบของ AEC ต่อไป ไม่น่ามีประเทศใดประเทศหนึ่งก้าวออกจากพันธมิตรทางการค้าทางเศรษฐกิจ เพราะความร่วมมือในประเทศสมาชิกใน ASEAN นั้น ต่างกับ EU โดย ASEAN เน้นเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ได้เน้นด้านการเมืองเหมือน EU นอกจากนี้ ยังแตกต่างที่ ASEAN เป็นการพัฒนาความร่วมมือแบบฉันทามติเป็นส่วนใหญ่ เราไม่ได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ที่ประเทศสมาชิกจะต้องมีการจ่ายเงินสมทบ หรือต้องมีรัฐบาลที่เหนือกว่า มีอำนาจอธิปไตยเหนือกว่าประเทศใดประเทศหนึ่งเหมือน EU เราจึงมีอิสระในแต่ละประเทศ มีอธิปไตยของแต่ละประเทศมากกว่า และการที่เรายอมรับความแตกต่างของแต่ละประเทศแล้วดำเนินมาตรการร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ทำให้แม้ว่าการดำเนินนโยบายต่างๆจะมีความล่าช้าไปบ้าง แต่ก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและรักษาความร่วมมือได้อย่างต่อเนื่อง”นายอมรเทพ กล่าว