- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 08 May 2016 13:48
- Hits: 6117
TMB คาดกนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังศก.มีสัญญาณบวกขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 11 พฤษภาคมนี้หลังเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน
TMB Analytics ระบุว่าการประชุมกนง. ครั้งก่อนในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องการรักษาความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่เศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงในระยะต่อไป นอกจากนี้ กนง. ยังแสดงความกังวลต่อค่าเงินบาทซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออก
สำหรับ สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งปัจจัยที่อยู่ในภาวะอ่อนแอและปัจจัยที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยอุปสงค์ในประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมมีแนวโน้มทรงตัว การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนมีแนวโน้มขยายตัวได้อ่อนๆ อย่างไรก็ตาม การบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการการซื้อรถยนต์ส่วนหนึ่งถูกดึงมาใช้ล่วงหน้าก่อนมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในช่วงต้นปี ในขณะที่ปัญหาจากภาวะภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ทำให้ทิศทางของการบริโภคในประเทศยังดูไม่ดีนัก ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับต่ำ สอดคล้องกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ยังไม่ปรับขึ้นอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกมีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังสามารถขยายตัวได้ 2 เดือนติดต่อกันในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 10.3 และ 1.3 ตามลำดับ หลังหดตัวติดต่อกันต่อเนื่องกว่า 13 เดือน แม้การขยายตัวดังกล่าวยังคงไม่บ่งบอกถึงสัญญาณฟื้นตัวของภาคส่งออกอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวจากการส่งออกทองคำและรายการพิเศษ ซึ่งเมื่อหักรายการเหล่านี้ไป การส่งออกยังคงหดตัวร้อยละ 4.6 และ 1.1 ตามลำดับ แต่ก็นับว่าการส่งออกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคมและไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ซึ่งส่งออกหดตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 8.3
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้แก่อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ต้นปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 34.9 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทมีสาเหตุจากการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามายังตลาดเกิดใหม่
อนึ่ง การแข็งค่าของค่าเงินบาทนับเป็นการแข็งค่าตามค่าเงินในภูมิภาค หากเทียบกันแล้วค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าหลายๆสกุลเงิน เช่น ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียและเงินรูเปียของอินโดนีเซีย ซึ่งแข็งค่ากว่าร้อยละ 8.6 และ 4.6 ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จึงมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกภายในปีนี้ และเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าวเงินทุนจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไปยังสหรัฐฯอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้าง ดังนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในปัจจุบันน่าจะไม่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกในช่วงนี้
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนเมษายน เงินเฟ้อพลิกกลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ซึ่งนับว่าเป็นการกลับขึ้นมาอยู่ในแดนบวกเร็วกว่าที่ศูนย์วิเคราะห์ฯประเมินไว้ในช่วงกลางปี นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม
โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับปัจจัยบวกเข้ามาบ้าง นำโดยการส่งออกที่เริ่มมีลุ้นส่งสัญญาณฟื้นตัว แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นแต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ในขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯจึงมองว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 11 พฤษภาคมนี้