- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 13 April 2016 14:26
- Hits: 4037
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด แนะบทบาทธนาคารพาณิชย์อุดช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย
สิงคโปร์ – ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด แนะบทบาทธนาคารพาณิชย์อุดช่องว่างและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงโครงการโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย ด้วยความสามารถในการรองรับความเสี่ยง ช่วยสภาพคล่องทางการเงิน และพร้อมให้การปรึกษาต่อภาครัฐเพื่อสร้างบรรยากาศและเงื่อนไขการลงทุนที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย
จากการประเมิณของธนาคารพัฒนาเอเชียว่า ทวีปเอเชียต้องการเงินทุน 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนับจากนี้ไปจนถึงปี 2020 เพื่ออุดช่องว่างโครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดแคลน เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในตัวเมือง ความต้องการด้านขนส่ง โลจิสติกส์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะเติบโตขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะเพิ่มภาระทางการเงินสำหรับภาครัฐ
สภาพเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะผลักดันให้เกิดความต้องการโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพและความสามารถในการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น คณะกรรมการวางแผนของอินโดนีเซียมุ่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทางด่วนและสนามบิน ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 ของฟิลิปปินส์เน้นการพัฒนาท่าเรือ ทางด่วนและโครงการพลังงาน
ดูจากความต้องการมากมายดังกล่าว ปัญหาขาดแคลนเงินทุนอาจน่าเป็นห่วงสำหรับภูมิภาคนี้ แม้เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดตัวธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ซึ่งตั้งเป้าจะปล่อยกู้ 1,000-1,500 ล้านเหรีญต่อปีภายใน 5 - 6 ปีแรก
นายอาเจย์ คานวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เงินทุนจากภาคเอกชนมาไม่ถึงภูมิภาคนี้ อาจเป็นเพราะการจัดโครงสร้างทางธุรกิจที่ไม่ตอบสนองความต้องการของโครงการ”
“ธนาคารพาณิชย์สามารถเป็นตัวต่อโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ ธนาคารไม่เพียงมีความสามารถรับความเสี่ยงโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างหรือยังสร้างไม่เสร็จและช่วยสภาพคล่องทางการเงิน แต่ยังร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมในการให้การสนับสนุนทางการเงิน ซี่งจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงที่ยั่งยืนของโครงการที่มีศักยภาพในการลงทุนเหล่านี้” นายอาเจย์ กล่าวเสริม
ความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการจัดโครงสร้างทางธุรกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้ความเสี่ยงตกอยู่กับภาคส่วนที่สอดคล้อง เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่แหล่งทุนใหม่ๆในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเอกชนที่บริหารเงิน ซึ่งปกติไม่ต้องการรับความเสี่ยงหลากหลายที่เกิดจากโครงการในระยะแรก จึงมักลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวหากมีสินเชื่อระยะสั้นจากธนาคารมาสนับสนุนการเงินในระยะแรกของโครงการ
กลไกนี้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย หากนักลงทุนสถาบันมีความสนใจในการลงทุนมากขึ้น ก็จะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์มีความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงมากขึ้นว่าเงินทุนจะถูกนำมาหมุนเวียนภายในกรอบเวลาที่ยอมรับได้ ในทำนองเดียวกัน ตลาดตราสารโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวโตขึ้นก็จะทำให้มีแหล่งทุนเพื่อสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้นสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้
สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งทุนเพื่อการพัฒนา เช่น AIIB ยังคงมีบทบาทสำคัญและบทบาทเสริมในระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการให้ความช่วยเหลือและค้ำประกัน ซึ่งส่งผลต่อการลดความเสี่ยง นอกจากนี้ AIIB ยังสามารถทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้น่าดึงดูดใจยิ่งขึ้นสำหรับธนาคารพาณิชย์และนักลงทุนสถาบัน
ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถเล่นบทเป็นตัวหลักในการประสานโครงการระดับภูมิภาค เอื้ออำนวยโครงการข้ามพรมแดนต่างๆ ก่อเกิดและผลดอกออกผล โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพดีไม่เพียงช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น การเชื่อมโยงทางกายภาพที่สะดวกมากขึ้นยังดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามายังภูมิภาค ส่งผลให้การบริโภคและการเติบโตขยายตัวขึ้น ธนาคารโลกประเมินว่า การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลให้จีดีพีเติบโตขึ้น 1%
“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่โครงการที่ยืนอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพัง จะต้องใช้แนวทางการประสานงานที่ดึงความร่วมมือจากภาครัฐ สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ให้กู้เพื่อการพัฒนา ธนาคารพาณิชย์ที่มีเครือข่ายมั่นคงทั่วโลก และเชี่ยวชาญในการจัดโครงสร้างความเสี่ยงที่เหมาะสม ตลาดทุนที่มีศักยภาพและนักลงทุนสถาบันที่มีเงินสดเหลือเฟือ ทั้งหมดนี้ ธนาคารพาณิชย์คือตัวกลางที่จะประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน”
“ถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นหลักทรัพย์ที่น่าดึงดูดใจ หากโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดการในแง่โครงสร้างการเงินและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เงินทุนจากภาคเอกชนจะไหลเข้ามาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ช่องว่างของโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ก็จะแคบลง นักลงทุนสถาบันก็จะมีโอกาสใหม่ในการนำเงินไปลงทุนให้เกิดประโยชน์โภคผลในโครงการที่มีคุณค่าโดยมีผลตอบแทนที่มีศักยภาพในระยะยาว” นายอาเจย์ กล่าวสรุป