- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 10 April 2016 21:59
- Hits: 2382
SME ภูธรมองสงกรานต์ซบเซา เหตุภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรชะลอตัว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมทั่วประเทศ พบว่า ธุรกิจ SME ภูธรมองภาวะธุรกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ซบเซามากกว่าผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ เหตุภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แนะรัฐเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูธรโดยตรง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ผลการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการ SME ต่อภาวะธุรกิจของตนเองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เปรียบเทียบก้บช่วงเดียวกันปีก่อน” โดยมีผู้ประกอบการ 860 กิจการทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็น แบ่งเป็นผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ 521 และในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 339 กิจการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มองภาวะธุรกิจในช่วงสงกรานต์ปีนี้เปรียบเทียบกับปีก่อน “ดีขึ้น”ร้อยละ 26 “ปกติ”(ใกล้เคียงปีก่อน) ร้อยละ 46 และ “แย่ลง” ร้อยละ 28 ด้านผู้ประกอบการในพื้นที่ภูมิภาคมองภาวะธุรกิจ “ดีขึ้น” ร้อยละ 21 “ปกติ” (ใกล้เคียงปีก่อน) ร้อยละ 42 และ”แย่ลง” ร้อยละ 37
ผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคมีมุมมองภาวะธุรกิจของตนเอง ”แย่ลง” สูงกว่าผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยให้ความเห็นว่าเกิดจาก “กำลังซื้อของลูกค้าลดลง” คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ตามด้วยปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ชะลอตัว และประชาชนเดินทางกลับบ้าน ร้อยละ 16 และ 7 ตามลำดับ ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจภูมิภาคได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรลดลง บั่นทอนกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงวันสงกรานต์ ด้านผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมองธุรกิจ “ปกติ” และ “ดีขึ้น” สูงกว่าผู้ประกอบการในภูมิภาค เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตร อีกทั้งยังได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพราะเป็นพื้นที่จัดงานที่สำคัญของประเทศ
ด้านการปรับการดำเนินธุรกิจรับกับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า “ไม่ได้ดำเนินการอะไรเป็นพิเศษ” คิดเป็นร้อยละ 59 เนื่องจากมองว่าเทศกาลสงกรานต์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจระยะสั้นเท่านั้น “จัดกิจกรรมทางการตลาด”(โปรโมชัน ลดแลกแจกแถม)เพื่อกระตุ้นยอดขาย คิดเป็นร้อยละ 18 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มค้าปลีก/ค้าส่ง สินค้าอุปโภคบริโภคทีสอดคล้องกับช่วงวันหยุดยาว และ บริหารสินค้าขายให้เหมาะสมกับยอดขายและเทศกาล คิดเป็นร้อยละ 17 ตามลำดับ
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อาจจะซบเซากว่าปีที่ผ่านมา ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการด้านภาษี กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายห้องพัก แพคเก็จท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม ที่ใช้จ่ายระหว่างวันที่ 9 – 17 เมษายน 2559 หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งน่าเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนจะสร้างความคึกคักได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้น ส่งผลเฉพาะธุรกิจโรงแรม ห้องพัก ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการระยะยาวกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลบวกจากมาตรการนี้เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคและกำลังซื้อของประชาชน จนกว่าปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจะบรรเทา ด้านผู้ประกอบการ อาจต้องปรับการดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจชะลอและกำลังซื้อลดลงด้วยเช่นเดียวกัน