- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 30 March 2016 23:08
- Hits: 4389
IMFมองภาพศก.ไทยเชิงบวกมีหลายปัจจัยหนุนจีดีพีโต-รับมือความเสี่ยงได้
แนวหน้า : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ผลการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย ของคณะเจ้าหน้าที่กองทุน การเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเดินทาง มาเยือนประเทศไทยเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 ตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (2016 ArticleIV Consultation) ระหว่างวันที่ 3-18 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 เริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ชะลอลงในช่วงก่อนหน้าจากปัญหาทางการเมือง โดยขยายตัวได้ 2.8% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ 0.9% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 2.5-1.5% จากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อคาดการณ์ปรับลดลงเช่นกัน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.8% ของ GDP โดยได้รับอานิสงส์จากอัตราการค้า (Terms of Trade: TOT) ที่ปรับดีขึ้น การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี และการนำเข้าที่หดตัวตามอุปสงค์ในประเทศ
นอกจากนั้น ตลาดการเงินไทยสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี และมอง ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่า ปี2559 จะขยายตัว 3% และ ปี 2560 ขยายตัว 3.2% ซึ่งความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการลงทุนภาครัฐยังจะเป็นแรงส่ง ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะกลับเป็นบวกได้ในปี 2559 แต่อาจใช้เวลาในการปรับเข้าสู่ค่ากลางของ เป้าหมายเงินเฟ้อ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะทยอยปรับลดลงในระยะปานกลาง
ส่วนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย จะมาจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขึ้นและ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกอาจก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและทำให้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ การเบิกจ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งหากล่าช้ากว่าคาดจะกระทบอุปสงค์ในประเทศได้และหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องนานกว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้ที่แท้จริงจะปรับสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลต่อการบริโภค และในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงอาจส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้
เยลเลนย้ำเฟดไม่รีบร้อนขึ้นอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก
นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวย้ำในวันนี้ว่า เฟดจะยังคงทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ทั้งนี้ ประธานเฟดกล่าวสุนทรพจน์ที่สโมสรเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก (Economic Club of New York) ว่า เฟดกำลังจับตาผลกระทบจากภาวะทรุดตัวของเศรษฐกิจโลก, ราคาน้ำมันที่ดิ่งลง และความผันผวนในตลาดหุ้น
"เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงต่อแนวโน้มดังกล่าว เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง" นางเยลเลนกล่าว
นางเยลเลนไม่ได้ระบุถึงกำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหม่ หลังจากที่เฟดทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา
นางเยลเลน กล่าวว่า สหรัฐเผชิญความเสี่ยงไม่มากนัก แต่การประเมินดังกล่าวอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนอย่างมาก
อินโฟเควสท์