- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 19 March 2016 22:12
- Hits: 4336
เศรษฐกิจไทยสโลว์ไลฟ์ เศรษฐกิจโลกสโลว์เวอร์
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics และดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ เปิดเผยมุมมองการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกปี 2559 ว่าจะเป็นในลักษณะ “เศรษฐกิจไทยสโลว์ไลฟ์ เศรษฐกิจโลกสโลว์เวอร์” กล่าวคือ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงส่งจากเครื่องยนต์ด้านต่างๆที่สามารถทำงานสอดคล้องกันมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ปรับสู่ระดับปกติที่จะสามารถรองรับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับทรงตัวที่ร้อยละ 2.8
ในด้านเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองเศรษฐกิจหลักยังคงฟื้นตัวในระดับที่แตกต่างกัน และนำไปสู่นโยบายการเงินโลกที่สวนทางกันก่อให้เกิดความผันผวนให้ตลาดการเงิน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆจากการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ยูโรโซนและญี่ปุ่นยังเผชิญกับพายุเศรษฐกิจ ทำให้การเติบโตอยู่ในระดับทรงตัว และต้องจับตาประเด็นด้านเสถียรภาพของสหภาพยุโรปจากกรณีการถอนตัวของอังกฤษหรือ Brexit ส่วนเศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 7 แต่ยังได้แรงหนุนจากการบริโภคและการเติบโตของภาคบริการเข้ามาทดแทนภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ส่วนเศรษฐกิจอาเซียนในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV
สำหรับ ทิศทางเศรษฐกิจไทย เครี่องชี้เศรษฐกิจแทบทุกด้านมีสัญญาณแผ่วลงในช่วงต้นปี โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวแรง และมีแนวโน้มที่จะแผ่วต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นและเศรษฐกิจคู้ค่าหลักฟื้นตัวมากขึ้น ทำให้ภาพรวมส่งออกทั้งปียังหดตัวที่ร้อยละ 4.5 อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ อาทิ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน ในตลาดออสเตรเลียและตลาด CLMV หมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรมในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และเครื่องจักรเกษตรกรรม ในตลาด CLMV
ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ แกนหลักในการขับเคลื่อนยังมาจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นระยะสั้นที่ส่งผลดีต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรก ด้านมาตรการการลงทุนระยะยาว ประกอบด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.8 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 8 ปีที่จะเร่งการทำสัญญา 20 โครงการให้แล้วเสร็จปีนี้ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ก่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงครึ่งหลังของปี ตลอดจนมาตรการระยะยาวในด้านการส่งเสริมการลงทุนซูเปอร์คลัสเตอร์ในพื้นที่ 9 จังหวัด การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค
นอกจากการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐแล้ว การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 32.5 ล้านคน หนุนโดยตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำและปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคเกษตร ทั้งนี้ จากเครื่องยนต์แต่ละด้านของเศรษฐกิจในปี 2559 ที่เริ่มทำงานประสานกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีแรงส่งมากนัก ก็คาดว่าส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.8
ในด้านตลาดการเงิน ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังค่อยฟื้นตัวอย่างช้าๆ กอปรกับแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางทรงตัว โดยอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ณ สิ้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลง หากความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
สำหรับ ทิศทางค่าเงินบาท ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าในระยะสั้น ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเนื่องจากจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯยังไม่ชัดเจน ทำให้เงินทุนยังไหลเข้ามาภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯที่คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้ภาพรวมค่าเงินบาททั้งปี 2559 เคลื่อนไหวในช่วง 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
จากทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจแบบสโลว์ไลฟ์ ส่งผลให้ภาพรวมของภาคธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มไม่สดใสมากนัก โดย สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลของการชะลอลงของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังคงเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐ อาทิ สาธารณูปโภค ก่อสร้าง รวมถึงภาคบริการและโรงแรมที่เติบโตตามแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยว สำหรับด้านเงินฝาก มีแนวโน้มเติบโตที่ร้อยละ 3.7 ตามการขยายตัวของสินเชื่อ และการปรับลดวงเงินคุ้มครองของเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภายใต้ภาวะการแข่งขันเงินฝากที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลาง ด้วยอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงกว่าเงินฝากส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารปรับตัวลดลงเล็กน้อย
นอกจากนั้น คุณภาพสินเชื่อที่คาดว่าจะด้อยลง โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (%NPL ratio) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.55 มาที่ร้อยละ 2.63 สาเหตุหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป
TMB คาดจีดีพีปี 59 โต 2.8% ธุรกิจท่องเที่ยวหนุนและนโยบายรัฐกระตุ้น คาดดอกเบี้ยทรงตัวระดับ 1.5% บาทเคลื่อนในกรอบ 34.5-35.5 บาท/ดอลล์
TMB คาดจีดีพีปี 59 โต 2.8% จากธุรกิจท่องเที่ยวหนุนและนโยบายรัฐกระตุ้น ประเมินดอกเบี้ยทรงตัวระดับ 1.5% และค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.5-35.5 บาท/ดอลล์ ประเมินครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มอ่อนตัว หากเฟดขึ้นดบ. TMB ประเมินภาพสินเชื่อทั้งระบบขยายตัวลดลง 4.1% หลังสินเชื่ออุปโภคชะลอ แต่สินเชื่อธุรกิจเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐยังโตได้
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยในงานเสวนา "หัวข้อเศรษฐกิจไทยสโลว์ไลฟ์ เศรษฐกิจโลกสโลว์เว่อร์' ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 2.8% โดยจะได้รับปัจจัยหนุนมาจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นระยะสั้นที่ส่งผลดีต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างน้อยครึ่งปีแรก ส่วนมาตรการลงทุนระยะยาวประกอบด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.8 ล้านล้านบาท ระยะเวลา 8 ปี ที่จะเร่งการทำสัญญา 20 โครงการ ให้แล้วเสร็จปีนี้ เช่นโครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบครึ่งหลังปีนี้ ตลอดจนมาตรการระยะยาวในด้านการส่งเสริมการลงทุนซุปเปอร์คลัสเตอร์พื้นที่ 9 จังหวัด การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐแล้ว การท่องเที่ยวยังมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 32.5 ล้านคน โดยมาจากตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ และปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร
"เศรษฐกิจไทยแทบทุกด้านมีสัญญาณแผ่วลงช่วงต้นปี โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวแรง และมีแนวโน้มที่จะแผ่วต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลังตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจคู่ค้าหลักฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมส่งออกทั้งปีหดตัว 4.5% แต่ยังมีสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนในตลาดออสเตรเลีย และตลาด CLMV หมวดเครื่องจักรอุตสาหกรรมในสหรัฐ สหภาพยุโรป และเครื่องจักรเกษตรกรรมใน CLMV"
ส่วนเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวในระดับที่แตกต่างกัน และนำไปสู่นโยบายการเงินโลก ที่สวนทางกัน ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวมากขึ้น จากการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังเผชิญกับพายุเศรษฐกิจ ทำให้การเติบโตอยู่ในระดับทรงตัว และต้องจับตาด้านเสถียรภาพของสหภาพยุโรป จากการถอนตัวของอังกฤษ ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 7% แต่ยังได้รับแรงหนุนจากการบริโภค และการเติบโตของภาคบริการเข้ามาทดแทนภาคอุตสาหกรรมที่่ชะลอตัว ส่วนเศรษฐกิจอาเซียนภาพรวมยังมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงิน ธนาคารคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ระดับต่ำ สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้่ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางทรงตัวที่ 1.5% อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลง หากความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.1% ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 0.9% โดยมาจากเศรษฐกิจที่เปาะบาง และ ราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าคาด
สำหรับ ทิศทางค่าเงินบาท ธนาคารประเมินว่าในระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจน ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้ภาพรวมค่าเงินบาททั้งปี 59 เคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ 4.1% เป็นผลของการชะลอลงของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังเติบโตได้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐ เช่น สาธารณูปโภค ก่อสร้าง รวมถึงภาคบริการและโรงแรม ที่เติบโตตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
ด้านเงินฝากมีแนวโน้มเติบโต 3.7% ตามการขยายตัวของสินเชื่อและการปรับลดวงเงินคุ้มครองของเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนส.ค. ทำให้ธนาคารต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันเงินฝากมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางด้วยอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่สูงกว่าเงินฝาก ส่งผลให้สภาพคล่องธนาคารปรับตัวลงเล็กน้อย
ด้านสินเชื่อที่ไม่ให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.63% จาก 2.55% ณ สิ้นปี 58 โดยมาจากกลุ่มสินเชื่อและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย