- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 27 February 2016 12:16
- Hits: 3330
ซีอีโออาเซียน ชี้จุดแข็งแรงงานมีฝีมือ-ศูนย์กลางภูมิภาค ไทยติด 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุน
แนวหน้า : PwC เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบความเชื่อมั่นซีอีโอทั่วโลกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและรายได้ปีนี้ลดลง เหตุกังวลความไม่สงบทางการเมืองความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ยังเดินหน้าลงทุน ขณะที่ไทยยังติด 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียน แนะไทยเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการศึกษา ไล่ให้ทันอินโดนีเซียและเวียดนาม
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย(ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึงผลสำรวจ Global CEO Surveyครั้งที่ 19 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum(WEF) ณ นครดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,409 ราย ใน 83 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 61 รายใน 7 ประเทศ ว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนเพียง 39% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก จะดีขึ้นในปีนี้ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 49% ถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2556 โดย 3 ปัจจัยหลัก ที่ซีอีโออาเซียนมองว่า เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและนโยบาย ได้แก่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความไม่มั่นคงทางสังคม และความไม่สงบทางการเมือง
“ความไม่สงบทางการเมืองกลายเป็นประเด็นที่ซีอีโอทั่วโลกต่างพูดถึงและจับตาอย่างใกล้ชิดโดยมองว่า หากมีสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศปะทุขึ้นอีกครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้คนและภาคธุรกิจ” นายศิระกล่าว
ขณะที่ผู้นำธุรกิจอาเซียนเพียง 38% เชื่อว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลดลงจากปีก่อนที่ 47% สำหรับ 3 ปัจจัย ที่ซีอีโออาเซียนมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ ได้แก่ 1.การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะโดยความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายด้านทั้งด้านไอที เทคโนโลยี และทักษะเฉพาะทางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมสากล2.การติดสินบนและคอร์รัปชั่น และ 3.การขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ และการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่
“ปีนี้ความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกและซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทลดลงทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมของโลกไม่ดีเท่าไหร่นัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ซีอีโอทั้งสองกลุ่มต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปีนี้มีอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่าโอกาส”
ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานเพิ่มในอาเซียนก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจที่ชะลอตัวโดยจากผลสำรวจพบว่าซีอีโออาเซียนเพียง 59% เท่านั้นที่มีแผนจะจ้างบุคลากรเพิ่ม ลดลงจากการสำรวจปีก่อนอย่างไรก็ดีแม้ภาพรวมการจ้างงานจะลดแต่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงในภูมิภาคยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ซีอีโออาเซียนให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาและบริหารบุคลากรที่เป็นทาเลนต์ โดย 43% ระบุว่า จะเปลี่ยนแปลงวิธีการพัฒนาบุคลากร เพื่อผลักดันให้คนเก่งมากความสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารในอนาคตนอกจากนี้ยังต้องการจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและพฤติกรรมการทำงาน รวมทั้ง ระบบการบริหารจัดการผลตอบแทน และสวัสดิการให้แก่พนักงาน เพื่อจูงใจและรักษาทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ
นายศิระให้ความเห็นว่าถึงแม้ภาพรวมความเชื่อมั่นปีนี้จะดูแย่ แต่ผู้บริหารในภูมิภาคยังคงมีแผนลงทุนตามปกติ โดย 5 อันดับตลาดน่าลงทุนในปีนี้ อันดับที่ 1ได้แก่ จีนซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มไม่สดใสนัก แต่จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน อันดับที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โดยดูจากกำลังซื้อและตัวเลขจ้างงานที่ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่วน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ติดอันดับที่ 3 เท่ากัน อย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้งมูลค่าการลงทุนและอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจของสองประเทศ ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาก ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีสูง ตามด้วย อันดับที่ 4 ได้แก่ อินเดีย ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี
สำหรับ ประเทศไทย ยังติด 1 ใน 5 ตลาดที่น่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียนในปีนี้โดยมีจุดแข็งสำคัญด้านแรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและการใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ผนวกกับไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร และการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ไทยก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เช่น ภาคการผลิตในบางจุดยังมีประสิทธิภาพต่ำ ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภาระหนี้สินของคนในชนบทและผู้มีรายได้น้อย และการอพยพของแรงงาน เป็นต้น
“ไทยยังน่าลงทุนในสายตาเพื่อนบ้านจากจุดแข็งหลายประการข้างต้น แต่สิ่งที่เราละเลยไม่ได้ คือ ต้องแก้ไขจุดอ่อนหลายๆ ด้านอย่างเร่งด่วน เพื่อไล่ตามอินโดนีเซียและเวียดนามให้ทัน”
นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชน โดยซีอีโออาเซียนมองว่า ภารกิจสำคัญ 3 อันดับแรกที่ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ได้แก่ 1.การสร้างแรงงานที่มีทักษะ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด 2.โครงสร้างพื้นฐานเชิงทางกายภาพและดิจิทัล และ3.แรงงานที่มีความหลากหลาย
ส่วนความท้าทายในการประเมินผลสำเร็จของกิจการนั้น ผลสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียนกว่า 80% ต่างเห็นด้วยว่า ความสำเร็จในการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21ไม่ได้วัดกันที่ “ผลกำไร” เพียงอย่างเดียว เนื่องจากผู้บริหารทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยคำนึงถึงเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจพร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม