- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 24 December 2015 09:51
- Hits: 2777
ทางออกเศรษฐกิจไทยปี 2559 ภายใต้ ‘นโยบาย 3 ยืม’
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การเติบโตไม่เป็นดังที่คาดหวัง มองว่ายังมีทางออกเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559 ด้วยมาตรการ 3 ยืม
§ ยืมตัวที่หนึ่ง ยืมเพื่อนบ้าน หรือมีชื่อนโยบายเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Beggar thy Neighbor’ ซึ่งหมายถึงนโยบายทางการเงินรูปแบบหนึ่งเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น โดยการลดดอกเบี้ยหรือปล่อยค่าเงินให้อ่อนตัว
§ ยืมตัวที่สอง ยืมกระเป๋าเงินเด็ก ปี 2559 จะเป็นปีแห่งการลงทุนภาครัฐ ตั้งเป้าขาดดุล 2.8% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงขึ้นกว่านั้น ซึ่งเป็นการเพิ่มหนี้ภาครัฐให้ขยับขึ้น และคนในอนาคตหรือลูกหลานเป็นผู้จ่าย แต่ถ้าหากเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจก็จะคุ้มค่า
§ ยืมตัวที่สาม ยืมตัวเอง ซึ่งเป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้จ่าย แต่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคเหมือนในอดีต เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทำให้การนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบันกระทำได้ไม่มากนัก ในที่นี้หมายถึงการลงทุนจากภาคเอกชนซึ่งต้องลงทุนทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่นำเงินที่เตรียมลงทุนในอนาคตมาลงทุนวันนี้ โดยน่าจะสอดรับกับนโยบายเร่งรัดการลงทุนของบีโอไอที่ให้นักลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 – 30 มิถุนายน 2559 หากลงทุนจริงทั้งด้านก่อสร้างและซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 70% ของมูลค่าการลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2559 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 4 ปี และลดหย่อนภาษีอีก 50% ในอีก 5 ปีถัดไป
ขณะเดียวกัน C I M B T จะเป็นแรงส่งหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559
§ C = Confidence คือ ความเชื่อมั่น ซึ่งมาจากนโยบาย/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เมื่อมีความชัดเจนก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้และดึงให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจลงทุน/ซื้อสินทรัพย์เพิ่มขึ้น
§ I = Infrastructure Investment คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะช่วยนำร่องการลงทุนให้ภาคเอกชนลงทุนตามและช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 20 โครงการวงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการเร่งอนุมัติโครงการและประกวดราคาให้แล้วเสร็จในปี 2559
§ M = Modernization คือ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการลงทุน ทั้งด้านนวัตกรรม ด้าน R&D และด้านซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่จะมีการลงทุนยานยนต์อัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง หุ่นยนต์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนด้านภาษีและส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออันจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและต่อยอดห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain
§ B = Border Trade คือ การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ แม้การส่งออกไปยังประเทศอาเซียนจะหดตัว แต่ การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ย 6-7% ยังเป็นบวก และยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ที่ยังจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและตลาดประเทศเพื่อนบ้านยังขยายตัว
§ T = Tourism คือ การท่องเที่ยวที่ยังจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า แม้ว่าสัดส่วนภาคท่องเที่ยวจะคิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ก็ตาม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังสูงถึงเกือบ30 ล้านคน โดยภาคท่องเที่ยวไทยเติบโตจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนถึงเม็ดเงินที่จะเข้ามาด้วย
นอกจากนี้ อยากให้จับตามอง 5 C ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
§ China = หรือปัจจัยจากจีนที่ยังชะลอตัว เนื่องจากจีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องสะสางอีกมาก ทั้งกำลังการผลิตส่วนเกินสูงในบางอุตสาหกรรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ภาคการเงินมีหนี้เสียมาก และรัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้ก้อนโต รวมไปถึงการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
§ Commodity = หรือระดับสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงราคาน้ำมัน ซึ่งบางประเทศพึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จึงได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อท่ามกลางภาวะที่อุปทานน้ำมันยังสูง ขณะที่อุปสงค์ที่มีต่อน้ำมันยังต่ำ เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะอยู่ในภาวะฝืดเคือง
§ Currency War = สงครามค่าเงิน ซึ่งมองว่าสงครามยังไม่จบ แม้ว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลายประเทศยังไม่สามารถส่งออกได้ จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม การแข่งขันกันลดค่าเงินเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในเวทีโลกจะมีแนวโน้มดำเนินต่อไป ซึ่งนโยบายนี้จะไม่ได้ผลหากเกิดการขยายวงทำให้ประเทศอื่นตอบโต้ด้วยการลดค่าเงินของตนบ้าง
§ Confidence = ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ แม้มีการมองว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากการลงทุนภาครัฐ แต่ความเชื่อมั่นจะเป็นความเสี่ยงเมื่อความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของประชาชนและการลงทุนของภาคเอกชน
§ Constitution = รัฐธรรมนูญ นักลงทุนต่างประเทศจะมองเรื่องนี้เป็นหลัก จึงอาจมีผลต่อการเจรจาเรื่องการค้าเสรี หรือการสนับสนุนทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะกับชาติตะวันตก รวมทั้งต้องดูว่าการเมืองใหม่จะนำมาซึ่งความปรองดองในระยะยาวได้หรือไม่
นายอมรเทพ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 น่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างช้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ขณะที่จีนมีการเติบโตในอัตราชะลอตัวลง มีเพียงสหรัฐฯเป็นเศรษฐกิจประเทศหลักประเทศเดียวที่ยังเติบโตได้อยู่แต่ก็ไม่มากนัก
ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2559 จะเติบโตในอัตรา 3.3% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% โดยปัจจัยสนับสนุนการคือการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออกรวมถึงราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น รวมทั้งระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มในระดับต่ำ หนุนอำนาจซื้อและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาในช่วงปลายปีก่อนและต่อเนื่องมาถึงปี 2559 อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับ ค่าเงินบาทในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาจากการทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย ทำให้ต้องจับตามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเข้ามาดูแลกระแสเงินทุนไหลออกเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2559 คาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ไปตลอดช่วงปีหน้า แต่ก็ยังมีโอกาสเล็กน้อยที่จะอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้น 0.25% ได้ในช่วงปลายปี หากเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นตามราคาน้ำมัน
กล่าวโดยสรุป แม้เศรษฐกิจไทยจะถูกปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงดึงรั้งไว้อยู่บ้าง แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวตาม รวมถึงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชา ก็เป็นอีกปัจจัยทำให้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ โดยประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 6-7% และยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ที่ยังจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและตลาด CLMV ยังเป็นบวกได้