- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 21 December 2015 09:46
- Hits: 2640
SCB EIC
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า ปี 59 การไหลออกของเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติจะไม่รุนแรง โดยมีการไหลออกของเงินทุนราว 50,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างน้อยแล้ว ดังนั้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนในสินทรัพย์ทางการเงินจำนวนมากโดยฉับพลันจึงเกิดขึ้นยากและจำกัดบนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยการประเมินดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอีก 50-100 basis points ในปี 59 อย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่มีการปรับลดขนาดงบดุลลงและมีการสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลกับตลาดการเงิน
ดังนั้น ประเมินว่า เงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากในปี 59 แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 50-100 basis points ทว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมากและฉับพลันเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้ เพราะมีการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายของนักลงทุนต่างชาติค่อนข้างต่ำ และไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่แข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อรายได้ประชาชาติ และทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นที่สูงกว่า ในขณะที่มีหนี้ต่างประเทศต่อรายได้ประชาชาติใกล้เคียงกับมาเลเซีย ทำให้ค่าเงินของไทยอ่อนค่าลงน้อยกว่าประเทศอื่น โดยอ่อนค่าลงเพียง 8.7%
สำหรับ ดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยระยะสั้นมีแนวโน้มคงตัว ในปี 59 SCB EIC มองว่าการไหลออกของเงินทุนจะเกิดขึ้นในปริมาณไม่มากเช่นเดียวกับค่าเงินบาทซึ่งอ่อนลงเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อไป ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินจึงทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินคงตัวด้วยเช่นกัน
ในส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bonds Yield) ระยะกลางและระยะยาวของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามแรงกดดันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นดังนั้นแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงเป็นไปในทิศทางขาขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเนื่องจากค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่มีอายุคงเหลือ 10 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในระยะเดียวกันในตลาดเงินโลกอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงที่การไหลออกของเงินทุนจะรุนแรงกว่าที่ SCB EIC ประเมินไว้ หากตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงเกินกว่าที่คาดหรือปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ การไหลออกของเงินทุนในปริมาณมากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1) เกิดความตื่นกลัวขึ้นในตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด 2) ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดขนาดงบดุลภายในปี 59
3) การชะลอตัวในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก เช่น จีน 4) อาจเป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพภายในประเทศ เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ 5) หากเกิดการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมันซึ่งจะกระทบต่อดุลการค้า ปัจจัยดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นจำนวน 85,000 - 147,000 ล้านบาท ซึ่งกดดันต่อค่าเงินบาทให้สามารถอ่อนลงเป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย