- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 09 December 2015 17:04
- Hits: 29956
นักการเงินแห่งปี 2558‘วรภัค ธันยาวงษ์’กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
คณะกรรมการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี มีมติเอกฉันท์ ตัดสินให้ วรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ครองตำแหน่ง 'นักการเงินแห่งปี 2558' ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน เป็นมืออาชีพวางรากฐานสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาลบริหารโปร่งใส
คณะกรรมการตัดสินรางวัล ‘นักการเงินแห่งปี’ของวารสารการเงินธนาคาร มีมติเอกฉันท์ ตัดสินให้ วรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ครองตำแหน่ง
‘นักการเงินแห่งปี 2558’’Financier of the Year 2015’ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน สะท้อนความเป็นผู้นำได้อย่างชัดเจนในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารเติบโตต่อเนื่อง
วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบ รางวัล ‘นักการแห่งปี’’Financier of the Year’ มาตั้งแต่ปี 2525 ต่อเนื่องติดต่อกัน เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งสถาบันการเงินประเภทอื่น ที่มีผลงานโดดเด่นในตลาดเงินตลาดทุนไทย ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ และคำนึงถึงสังคมส่วนรวม
วรภัค ธันยาวงษ์ นับเป็นนักการเงินคนที่ 23 และเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของรัฐรายแรกที่ได้รับรางวัล ‘นักการเงินแห่งปี’ในรอบ 34 ปี ด้วยการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการติดตามผลงานและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในวงการธนาคารและการเงิน โดยยึดหลักเกณฑ์การพิจารณานักการเงินแห่งปี ใน 4 ด้านที่ วารสารการเงินธนาคาร กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี โดย วรภัค มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก นักการเงินแห่งปี ทั้ง 4 ข้อ คือ
1.เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย
วรภัคได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ธนาคารให้เป็น ‘KTB Growing Together’ หรือ “กรุงไทย ก้าวไกล ไปกับคุณ” มุ่งมั่นเป็นธนาคารที่เติบโตไปพร้อมกับลูกค้า พนักงาน สังคม และผู้ถือหุ้น อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการปรับตำแหน่ง (Position) ของธนาคาร จาก “Bank of Government” เป็น “Government Bank of Choice” คือ เป็นแบงก์ที่รัฐบาลเลือก พร้อมกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กรุงไทย ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนผ่านสายงานที่เป็นรากฐานของธนาคาร เสริมทัพผู้บริหารให้เข้มแข็งและสร้าง 2 สายงานใหม่ คือ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน (Global Market) และสายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ (Global Transaction Banking) เพื่อเตรียมความพร้อมที่บุกตลาดในทุกด้าน
ส่งผลให้ความผูกพันของลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งวัดจาก คะแนน Gallup Customer Engagement เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.34 ในต้นปี 2557 เป็น 4.43 ในเดือนมิถุนายน 2558 และอยู่ในระดับ Top 25 ของธนาคารทั่วโลกที่สำรวจโดย Gallup
สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ (Global Transaction Banking) มีผลให้ตำแหน่ง Government Bank of Choice ของธนาคารกรุงไทยมีความชัดเจนมากขึ้น เห็นได้การเข้าร่วมโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล มีผู้ค้ารายย่อยลงทะเบียนสั่งซื้อและจองสลากล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารกรุงไทยประมาณ 62,500 ราย รวมทั้งยังได้ดำเนินโครงการการออกบัตรเติมเงิน M-PASS ร่วมกับกรมทางหลวง และยังได้ร่วมในโครงการการให้บริการออกหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Guarantee) และชำระเงินค่าซื้อเอกสารประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ของกรมบัญชีกลาง
ธนาคารกรุงไทยมีส่วนแบ่งการตลาดยอดเงินฝาก CASA ภาครัฐเพิ่มขึ้นจนก้าวสู่อันดับ 1 ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มียอดเงินฝากประจำและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ภาครัฐจำนวน 417,578 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 48.55% และยังมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อภาครัฐเป็นอันดับ 1 อีกด้วย โดยมียอดสินเชื่อคงค้างภาครัฐจำนวน 128,830 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 36.09%
2.เป็นนักการเงินมืออาชีพ ที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ
วรภัคได้วางฐานรากทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน เพิ่มศักยภาพการบริหารความเสี่ยงให้กับธนาคารกรุงไทย และปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วและเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยได้ปรับตัวชี้วัดระดับความเสี่ยง (Risk Rating) ทำให้การพิจาณาความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ตั้งหน่วยงานทางด้านสินเชื่อโดยเฉพาะขึ้นมาเรียกว่า Loan Factory ศูนย์ปฏิบัติการด้านพิจารณาสินเชื่อที่รวบรวมพนักงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวการการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อมารวมไว้ในที่เดียวกัน และยึด Risk Ratingในการพิจารณาสินเชื่อ
ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อโดยเฉลี่ยลดลงจากเดิมเกินกว่า 30 วันเหลือเพียง 8 วัน ซึ่งลดโอกาสการเป็นหนี้เสียลง 33% เมื่อเทียบกับการพิจารณาสินเชื่อแบบเดิม
วรภัคยังได้เพิ่มประสิทธิภาพในการขายของพนักงานสาขา ซึ่งมีผลให้จำนวนบัญชี CASA ต่อพนักงาน เพิ่มขึ้น 13% จำนวนคำขอสินเชื่อต่อพนักงานเพิ่มขึ้น 61% และระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อโดยเฉลี่ยลดลงจากเดิมที่นานกว่า 10 วัน เหลือเพียง 2 วัน
วรภัคบริหารงานด้วยความยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและการเป็นองค์กรที่โปร่งใส จึงทำให้ธนาคารกรุงไทยซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ต้องดำเนินธุรกิจธนาคารและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ดำเนินธุรกิจบนครรลองธนาคารพาณิชย์ได้อย่างราบรื่นและเข้าร่วมสนับสนุนโครงการภาครัฐได้อย่างเหมาะสม
เห็นได้ชัดจากในช่วงต้นปี 2557 กรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลรักษาการต้องการให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาปล่อยกู้โครงการรับจำนำข้าววงเงิน 160,000 ล้านบาท ซึ่งวรภัคยืนยันว่า ไม่มีการปล่อยกู้โครงการรับจำนำข้าว และ การเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร ด้วยความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้มาจากการเมือง จึงไม่ต้องตอบแทนบุญคุณใคร และ ธนาคารกรุงไทย จะไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใครอย่างแน่นอน
3.เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร
ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปี นับตั้งแต่วรภัคได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการทำหน้าที่ผู้นำองค์กรได้ดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความมั่นคงขององค์กร ธนาคารกรุงไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 33,929.27 ล้านบาท และจากการจัดอันดับธนาคารแห่งปี Bank of The Year ของ วารสารการเงินธนาคาร ในปี 2557 และ 2558 ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งรายได้ กำไรสุทธิ สินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น มูลค่าทางบัญชี
ปี 2557 สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น 10.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 4.5% ในขณะที่เงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้น 14.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 6.6% ในขณะที่ GDP ปี 2557 ของไทยเติบโตเพียง 0.7% จากปีก่อน ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดด้านสินเชื่อและเงินฝากขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
4.เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
วรภัคให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนการตอบแทนสังคม และใส่ใจในสิ่งแวดล้อม(Corporate Social Responsibility : CSR) โดยได้ดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมใน 3 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
วรภัคได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่สามารถเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ เช่น สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์สำหรับชุมชนและกลุ่มคนรากหญ้า โครงการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมียังผลิตภัณฑ์และจุดบริการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ชาวต่างชาติ ซึ่งได้ขยายช่องทางการบริการลูกค้าในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนนำเสนอบริการทางการเงินที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการประชาชนยุคดิจิตอล เช่น Digital Banking สำหรับกลุ่มลูกค้า Gen-Y และ Smart Affluent Segment และให้บริการ Corporate Banking ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application)
นอกจากนี้ได้ริเริ่มการประกวดศิลปกรรมกรุงไทย “Krungthai Art Awards” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงานศิลปกรรม ที่แสดงออกถึงเรื่องราวและเนื้อหาของความเป็นไทย ที่พัฒนาก้าวสู่ระดับสากลตามพันธกิจของธนาคาร ในการส่งเสริมการสร้างทุนทางปัญญาภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเชื่อมั่นว่างานสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม เป็นทุนทางปัญญาที่มีประโยชน์ สามารถสร้างคุณภาพที่ดีขึ้นแก่สังคม