- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Tuesday, 17 November 2015 23:07
- Hits: 4306
ผลวิจัยวีซ่า เผย สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย
ผลสำรวจล่าสุดของ วีซ่า เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2558 เผยว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยเลือกใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการซื้อสินค้าออนไลน์
ผลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2558[1]ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study 2015) แสดงให้เห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะผู้บริโภคนิยมใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระเงินออนไลน์ โดยสองในสามของผู้บริโภคช้อปปิ้งออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง และมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (53 เปอร์เซ็นต์) ได้ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระเงินออนไลน์
ผลสำรวจฉบับนี้ได้ศีกษาเทรนด์และพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคจากหกประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงหมวดหมู่สินค้าที่ผู้บริโภคสนใจในการซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงสินค้าจากหมวดหมู่ใหม่ที่มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเริ่มช้อปปิ้งมากขึ้น
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นแต่ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ บัตรชมภาพยนตร์ และการชำระค่าสินค้า บริการ และสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเติบโตของตลาดออนไลน์เพราะมีส่วนแบ่งการชำระเงินต่ำ แต่มียอดการใช้จ่ายที่ถี่ โดยสัดส่วนที่สูงขึ้นของการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทำให้เราเห็นโอกาสเติบโตอันดี ในอนาคต"
ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 29 เปอร์เซ็นต์[2] แต่ยังมีการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใกล้เคียงกัน แม้ว่าสัดส่วนของผู้ถือบัตรที่ใช้จ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ยอดการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือและแท็บเล็ตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้นได้ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปและสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำหรับชำระเงินอันดับแรกของหลายคน (mobile first)[3]
อัตราของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยที่ระบุว่าตนซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้งเพิ่มขึ้นจาก 64 เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจของปี 2557[4] เป็น 66 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยมีระยะเวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์ต่อครั้งนานประมาณ 46 นาที ซึ่งเหตุผลหลักๆที่พวกเขาเลือกซื้อสินค้าออนไลน์เป็นเพราะว่า มีการจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าโดยตรง (40 เปอร์เซ็นต์) ความสะดวกสบาย (37 เปอร์เซ็นต์) ราคาที่ดีกว่า (15 เปอร์เซ็นต์) และมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย (8 เปอร์เซ็นต์)
ประเภทสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยมในการช้อปปิ้งออนไลน์ได้แก่ ซอฟแวร์ แอพพลิเคชันและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ แอพฯ (53 เปอร์เซ็นต์) อีเวนท์และคอนเสิร์ต (53 เปอร์เซ็นต์) บริการด้านการท่องเที่ยว (47 เปอร์เซ็นต์) เนื้อหาดิจิตอลต่างๆ อาทิ เกมส์ เพลง และวิดีโอ (40 เปอร์เซ็นต์)
นอกจากนี้ ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าร้านค้าออนไลน์เสียรายได้จากการยกเลิกการซื้อระหว่างขั้นตอนการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ (57 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งสาเหตุหลักของการยกเลิกการสั่งซื้อเป็นเพราะ หน้าเพจโหลดช้า (35 เปอร์เซ็นต์) หน้าตาเว็บไซต์ยากต่อการใช้งาน (24 เปอร์เซ็นต์) กระบวนการซื้อที่ไม่ชัดเจนหรือยาวนานเกินไป (19 เปอร์เซ็นต์) และกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย (16 เปอร์เซ็นต์)
กระแส เอ็มคอมเมิร์ซ มาแรง แซงทุกโค้ง
ที่ผ่านมาเทรนด์การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในตลาดอีคอมเมิร์ซมีมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถามใช้อุปกรณ์มือถือเหล่านี้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ และ 32 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ระบุว่าเป็นวิธีชำระเงินที่เขาชื่นชอบที่สุด ซึ่งกระแสความนิยมมีท่าทีที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะ 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงเลือกใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์ในปีหน้า โดยเฉพาะในผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มผู้ชาย
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 52 เปอร์เซ็นต์ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งอาจมาจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic wallet) และแอพพลิเคชันในการชำระเงินอื่นๆ
สำหรับ ผู้บริโภคหลายคนที่เคยนิยมซื้อสินค้า ณ ห้างร้าน ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาการซื้อผ่านช่องทาง เอ็มคอมเมิร์ซมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ตอบแบบสอบถามที่เพิ่งเริ่มชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเมื่อปีที่ผ่านมานิยมซื้อสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กถึง 78 เปอร์เซ็นต์ และซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 75 เปอร์เซ็นต์ผ่านทางมือถือ
เทรนด์ดังกล่าวถือเป็นข่าวดีสำหรับห้างร้านเพราะผลวิจัยได้เผยให้เห็นว่ามากกว่าสามในสี่ (76 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริโภคสนใจที่จะเลือกซื้อผ่านแอพฯของห้างร้านที่ตนชื่นชอบถ้าห้างร้านเหล่านั่นมีแอพพลิเคชั่นของตังเองโดยเฉพาะ และเจ็ดในสิบของผู้ตอบแบบสอบถามสนใจที่จะช้อปฯผ่านเว็บไซต์บนสมาร์ทโฟน (68 เปอร์เซ็นต์)
การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์โฟนและแท็บเล็ตไม่ได้เติบโตอย่างเร็วเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น การศึกษาอีกฉบับหนึ่งของวีซ่า[5] ในปี 2558 ได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคจาก 13[6] ประเทศไทยเอเชียแปซิฟิคมีการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 เฉลี่ย 22 เปอร์เซ็นต์
"ตลาดอีคอมเมิร์ซในอนาคตยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพราะมีคนไทยจำนวนมากที่เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ในการซื้อสินค้าและบริการ เพราะมีผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจำนวนมากขึ้น วีซ่าในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายชำระเงินที่ครอบคลุมทั่วโลกจึงไม่หยุดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการการชำระเงินให้ทันสมัยเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นไม่ว่าจะผ่านเว็ปไทยหรือต่างประเทศ" นายสุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย
3 มือถือใหญ่ร่วมผนึกกำลังให้บริการโอนเงินข้ามอี-วอลเลทโดยไม่จำกัดค่าย
3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ “เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟเอช"ผนึกกำลังเชื่อมต่อระบบกระเป๋าเงินออนไลน์บนมือถือ (อี-วอลเลท) สร้างมิติใหม่เขย่าวงการ อี-มันนี่ เมืองไทย ครั้งแรกกับการเปิดให้บริการโอนเงินข้ามแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินออนไลน์ ระหว่าง AIS mPAY, Jaew Walletและ Wallet by TrueMoney ได้โดยไม่จำกัดค่าย เพียงแค่รู้เบอร์มือถือ มอบความสะดวกสบายให้ลูกค้าโอนเงินและใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ ได้เพียงปลายนิ้ว ทุกที่ทุกเวลา เกาะกระแสอี-คอมเมิร์ชและโมบาย คอมเมิร์ช ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีมาสเตอร์การ์ดและธนาคารธนชาตเป็นพันธมิตรสำคัญที่ให้การสนับสนุนด้านความปลอดภัยด้วยมาตรฐานสากลที่ลูกค้ามั่นใจได้
"ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันในกลุ่มผู้ให้บริการอี-มันนี่ เพื่อกำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม ยกระดับอี-วอลเลทในประเทศไทยให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น หวังสร้างให้เกิด Cashless Society ตลอดจนตอบสนองนโยบายเศรฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างแท้จริง"
ความร่วมมือของยักษ์ใหญ่ทั้งสามค่ายเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทยยุคใหม่ซึ่งจำเป็นต้องทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ทั้งนี้ ผลสำรวจการใช้จ่ายผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่จัดทำโดยมาสเตอร์การ์ด พบว่า คนไทย 58.8% เคยใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างน้อยหนึ่งครั้งในปี 57 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของเทรนด์ทั่วโลกที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือโมบาย คอมเมิร์ซ ทำให้ระบบการชำระเงินพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ระบบการชำระเงินแบบใหม่ๆ เป็นที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนการชำระเงินผ่านทางเลือกใหม่ๆ เช่น อี-วอลเลท การโอนเงินแบบเรียลไทม์ หรือทางโทรศัพท์มือถือจะเพิ่มขึ้นทั่วโลกจาก 43% ในปี 55 เป็น 59% ในปี 60
นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์เอ็มเปย์ จำกัด กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของเอไอเอสที่ตั้งเป้าสู่การเป็น “Digital Service Provider" อย่างเต็มรูปแบบเพื่อส่งมอบเครือข่ายและบริการดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ให้คนไทยใช้ชีวิตได้มากกว่า โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญ คือการเป็นผู้ให้บริการ Digital Money อย่างเต็มรูปแบบ สร้างโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน (Fin Tech) ให้กับคนไทยทุกคน ผ่านแอปพลิเคชั่น AIS mPAYรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินบนมือถือแบบครบวงจร
สำหรับความร่วมมือในการเชื่อมต่อระบบกระเป๋าเงินออนไลน์ของทั้ง 3 ค่ายในครั้งนี้จะเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดเดิม และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าทุกค่ายสามารถโอนเงินผ่านอี-วอลเลทกันได้อย่างสะดวกสบาย สอดคล้องกับแนวคิด Digital Money for Everyone ของ AIS mPAY ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ เปิดรับทุกคน รับทุกค่าย ง่าย ครบ จบในแอปฯ เดียว ถือเป็นการร่วมกันขยายตลาดดิจิทัลมันนี่ของประเทศไทยให้เติบโตมากขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกและนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มุ่งสร้าง Cashless Societyที่มุ่งส่งเสริมให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ลดการใช้เงินสด สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ในการจ่ายบิล, ช้อปปิ้ง และโอนเงินผ่านอี-วอลเลทมากขึ้น
นายปานเทพย์ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญในการให้บริการทางการเงินของดีแทค คือ การเป็นส่วนผลักดันสำคัญในการสร้าง Cashless society และพร้อมสนับสนุนนโยบาย Digital Economy อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประเทศไทยทัดเทียมกับหลายประเทศชั้นนำ ในขณะที่อัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 145% เราจึงได้มีวิสัยทัศน์และแนวคิด Internet for all เพื่อ Financial for all การให้บริการทางการเงินเพื่อทุกคนทั้งที่จะเห็นได้จากบริการต่างๆที่เรามี อาทิ บริการเพย์เม้นท์เกตเวย์ที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 50, บริการทางการเงินในรูปแบบ Over the counter(OTC) ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
และล่าสุด Jaew Wallet (แจ๋ว วอลเลท) แอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของกลุ่มคนดิจิทัลในการให้บริการโอนเงินบนมือถือที่ง่าย สะดวก และปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือครั้งนี้ที่นับว่าเป็นการพลิกประวัติศาสตร์การโอนเงินอี-วอลเลท ให้สามารถโอนเงินหากันได้ทุกค่ายไม่จำกัด ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ครอบคลุมอย่างแท้จริง และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของอุตสาหกรรมการให้บริการด้านการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างกันได้ เพื่อพัฒนาไปสู่การให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรเพียงมีเบอร์มือถือเท่านั้น
นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวว่า ทรูมันนี่ ในฐานะผู้ให้บริการธุรกรรมด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) มีพันธกิจในการทำให้ทุกธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่าย จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น Wallet by TrueMoney เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับบริการธุรกรรมทางการเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยที่สุด ผ่านเครือข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตซึ่งบริการโอนเงินข้ามกระเป๋าเงินออนไลน์บนมือถือจะเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดการใช้งาน MobileWallet จากเครือข่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าให้ได้รับความสะดวก สามารถโอนเงินถึงกันได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกเครือข่าย อีกทั้งในภาพรวมยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนก้าวเข้าสู่อนาคตทางการเงินยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
มร.แอนโทนิโอ คอร์โร ผู้จัดการประจำประเทศไทยและพม่า มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า มาสเตอร์การ์ดเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งนี้ โดยช่วยให้ผู้ใช้บริการทั่วประเทศได้รับความสะดวกสบายและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายผ่านกระเป๋าเงินออนไลน์ทุกที่และทุกเวลา ด้วยเทคโนโลยี inter-operability ของมาสเตอร์การ์ด รวมทั้งการอำนวยความปลอดภัยทุกครั้งที่ใช้จ่าย ด้วยความปลอดภัยหลายชั้น (multi-layered security) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากมาสเตอร์การ์ดที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของผู้บริโภค
นายปริญญา จินันทุยา ผู้อำนวยการฝ่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝากและการชำระเงิน ธนาคารธนชาต กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ BIN Sponsorship ที่ธนาคารให้ความร่วมมือกับบริษัทในเครือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่ายก่อนหน้านี้ ในการออกบัตรพรีเพด AIS mPAY MasterCard, PAYSBUY MasterCard และ WeCard by TrueMoneyซึ่งให้บริการทั้งในรูปแบบบัตรเสมือน และบัตรพลาสติก เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ ธนาคารในฐานะผู้นำและผู้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงิน จึงให้การสนับสนุนความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการด้านการโอนเงินได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถโอนเงินข้ามค่ายผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกสบาย
อินโฟเควสท์