- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 08 November 2015 07:08
- Hits: 4724
SCB EIC คาดเงินเฟ้อพลิกกลับเป็นบวกใน ม.ค.59 หลังต.ค.ติดลบน้อยสุดรอบ 6 เดือน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)เสนอบทวิเคราะห์ เรื่องอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.อยู่ที่ระดับ -0.77%YOY สูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นและจะกลับมาเป็นบวกได้ในเดือน ม.ค.59 จากการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ และผลของฐานราคาน้ำมันที่สูงกว่าในปีก่อนหน้าได้หมดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อไปจากอุปทานส่วนเกิน ทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อโลก
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 58 จะติดลบราว 0.8% จาก 10 เดือนแรกที่ติดลบ 0.9% และสำหรับปี 59 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1.3% ซึ่งกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 2.5±1.5%อนึ่ง วันนี้กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมปี 2015 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ระดับ -0.77%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) สูงสุดในรอบ 6 เดือน และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น 0.2%MOM ในเดือนตุลาคมจากที่หดตัว 0.05%MOM ในเดือนกันยายน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 0.95%YOY
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผักและผลไม้ขึ้นราคาในช่วงเทศกาลกินเจ ราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นราว 9.0%YOY ส่งผลให้ราคาอาหารสดโดยรวมซึ่งมีสัดส่วนราว 15% ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น 2.5%YOY ขณะที่ราคาอาหารสดชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์ ยังปรับตัวลดลงเล็กน้อย นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่เป็นสัดส่วนราว 11% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น -15.5%YOY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ -16.6%YOY เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 0.95%YOY ในเดือนตุลาคม จากระดับ 0.96%YOY ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น 1.4%YOY จากเดือนก่อนที่ 1.3%YOY และราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ทั้งหมวดเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และบริการต่างๆ โดยรวมยังทรงตัว สะท้อนถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อเดือนตุลาคมในภาพรวมดีขึ้นจากเดือนกันยายน เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณของราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า