- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 21 October 2015 14:57
- Hits: 3098
มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558
การสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เกี่ยวกับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 พบว่า มีบริษัท จดทะเบียนตอบแบบสอบถาม 108 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์รวม 36% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
แนวโน้มเศรษฐกิจ
? ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO) ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 มีแนวโน้มแย่ลง ซึ่งตรงกันข้ามจากการสำรวจในครั้งก่อนที่คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว และ CEO คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2558 จะเติบโตลดลงไปอยู่ในช่วงน้อยกว่า 2% และคาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมมีทิศทางที่แย่ลงเช่นเดียวกับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ
o ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2558 ยังคงเป็นนโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ CEO คาดการณ์ว่า การท่องเที่ยว จะมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลง ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และ CEO เริ่มให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่ไม่เติบโตตามที่คาดการณ์และเริ่มมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น
แนวโน้มการดำเนินธุรกิจ
? CEO ส่วนใหญ่คาดผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม 58% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2558 จะเติบโตมากกว่า 3% และ 41% คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2558 จะเติบโตมากกว่า 6%
? ในการรับมือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะที่ด้านการตลาดให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ด้านการลงทุนบริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนในต่างประเทศแต่เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน ขณะเดียวกันบริษัทฯ ให้ความสนใจกับการบริหารควบคุมค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และมีข้อสังเกตว่า 1 ใน 4 ของบริษัทจดทะเบียนที่วางแผนลดอัตราการจ้างงานซึ่งสูงกว่าการสำรวจครั้งที่ผ่านมา
แนวโน้มการลงทุน
? 60% ของบริษัทฯ ที่ตอบแบบสอบถาม มีแนวโน้มลงทุนเพิ่มขึ้น ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนที่สำคัญในการขยายการลงทุนยังคงเป็นกำไรสะสม การกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และการออกหุ้นกู้ภายในประเทศ
? เมื่อพิจารณาการลงทุนต่างประเทศ พบว่า 47% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามมีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนน้อยกว่า 25% ของเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัท และเน้นการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
รายละเอียดเพิ่มเติมดังเอกสารแนบ
Disclaimers: รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (CMRI) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ซึ่งทำการสำรวจในช่วงวันที่ 22 กรกฎาคม-2 กันยายน 2558
SET Note ฉบับที่ 13/2558 จัดทำโดย น.ส. สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย