- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 14 October 2015 12:00
- Hits: 17267
สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559 และผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยนางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้ง มุมมองของทริสเรทติ้ง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปี 2558 และแนวโน้มในปี 2559 พร้อมทั้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ 22 ที่ทริสเรทติ้งได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559
นางสาววัฒนา กล่าวว่า ทริสเรทติ้งมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจยังคงอ่อนตัวลง จากปัจจัยลบหลายประการ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้รายได้ครัวเรือนของภาคเกษตรกรรมถดถอยลง รวมทั้งการชะลอตัวที่เกินกว่าความคาดหมายของเศรษฐกิจจีนและการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็ทำให้รายได้จากการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของไทยมาโดยตลอดกลับลดลงถึง 4.8% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยในอดีตการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกมากกว่า 40% ในขณะที่การลงทุนจากภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดของประเทศในช่วงนี้กลับล่าช้า ประกอบกับการสูงขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของ GDP ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายสินค้าและบริการภายในประเทศชะลอตัวและลดลง ในขณะที่กลุ่มปิโตรเลียมยังได้รับผลกระทบในทางลบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2558
ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 ในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปจนถึงสิ้นปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะช่วยสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ดีขึ้นเนื่องจากขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของประเทศที่จะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2559 ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำหรับปี 2558 อยู่ที่ระดับ 2.5% ได้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านการส่งออกจากการอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน
สำหรับ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 นั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้หรือไม่เพียงใด ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรหลักที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น ประเทศบราซิลที่อาจต้องลดการผลิตและส่งออกสินค้าลง ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าของไทยรายใหญ่เป็นอันดับ 1 (11% ของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2557) ประกอบกับความล่าช้าในการปรับตัวของผู้ส่งออกสินค้าขั้นต้นยังน่าจะเป็นปัญหาของการส่งออกของไทยไปอีกในระยะปานกลางถึงระยะยาว ในขณะเดียวกันโครงสร้างตลาดการส่งออกของไทยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือ สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอาจเพิ่มขึ้นในปี 2559 เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ของไทยมาก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยจีน โดยในปี 2557 มีสัดส่วนสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ 10.5% อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกของไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า และข้อจำกัดทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้าต่างๆ รวมทั้งการลดลงของสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ผู้ส่งออกไทยเคยได้รับก็ทยอยลดลง ทำให้เชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2559 น่าจะอยู่ในระดับ 2.5%-3% บนสมมติฐานที่โครงการขนาดใหญ่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ และไม่เกิดปัญหาทางการเมืองภายในประเทศปะทุขึ้นมาอีก ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น
ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559
ทริสเรทติ้ง สรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่บริษัทได้ให้บริการจัดอันดับเครดิตแก่ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมทั้งการเกษตร และกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน เช่น อุตสาหกรรมโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว รับเหมาก่อสร้าง และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น
อุตสาหกรรมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
ที่อยู่อาศัย ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2558-2559 อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2557 โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งใน
ด้านลบ อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจนทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารลดลง และจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยด้านบวก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ต้นทุนค่าแรงและวัสดุก่อสร้างที่ทรงตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะออกมาในไม่ช้า
ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีจำนวนทั้งสิ้น 19 ราย มีอันดับเครดิตในระดับตั้งแต่ "BB+" ถึง "A+" มียอดขายที่อยู่อาศัยรวมประมาณ 60%-65% ของยอดขายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทริสเรทติ้งพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงเนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนเงินกู้ต่อทุนโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการทั้ง 19 รายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.04 เท่าในปี 2556 และ 1.13 เท่าในปี 2557 เป็น 1.22 เท่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าคงเหลือ (รวมที่ดิน โครงการระหว่างก่อสร้าง และจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้ว) ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 339,000 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ 405,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 และ 430,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 โดยสินค้าคงเหลือดังกล่าวเป็นต้นทุนที่จะต้องใช้เวลาในการระบายถึงประมาณ 3 ปี
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ยอดรับรู้รายได้รวมของผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งทั้ง 19 รายยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 16% มาอยู่ที่ 112,787 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในปีนี้น่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มียอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้คงเหลือ (Backlog) ในระดับที่ค่อนข้างสูง
สินเชื่อเช่าซื่อรถยนต์ ในปี 2558-2559 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2557 จากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรกในช่วงเดือน ก.ย. 2554 - ธ.ค. 2555 (1.25 ล้านคัน) ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์เกินอัตราที่แท้จริง เกิดเป็นการก่อหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและเกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินในรถยนต์มือสองจนกระทั่งราคารถยนต์มือสองลดลงอย่างต่อเนื่องนานถึง 2 ปีตั้งแต่กลางปี 2556 และราคาลดลงมากถึง 30%-35% ในช่วงดังกล่าว เมื่อรวมกับผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 แล้วส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 หดตัวลง 2% ในปี 2557 และ 0.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากที่ขยายตัวเกินจริงถึง 38% ในปี 2555 และ 21% ในปี 2556 ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2555 เป็น 2.2% ในปี 2557 และขยับขึ้นเป็น 2.4% ณ เดือน มิ.ย. 2558 ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 8 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "BBB-" ถึง "AAA" โดยรายใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ 3 ราย ได้แก่ ธ. ธนชาต (AA-/Stable) ธ. ทิสโก้ (A/Stable) และ ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) นอกจากนี้ ยังมี บมจ. อยุธยาแคปิตอล ออโต้ลีส (AA-/Stable) และ บจก. โดโยต้าลีสซิ่ง (หุ้นกู้มีค้ำประกัน AAA/Stable)
แม้ว่า การหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2557 และครึ่งแรกของปี 2558 จะมีอัตราต่ำกว่าที่เคยติดลบถึง 9% ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 แต่การหดตัวในรอบนี้มีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะสั้น โดยเฉพาะเมื่อราคารถยนต์มือสองยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปในปี 2559 ทริสเรทติ้งจึงมองว่าทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงจำกัด ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวถึงลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ตัดหนี้สูญออกไปจำนวนมากและมีภาระต้นทุนทางเครดิตในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยในปี 2559 จะทำให้การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ภาคการเกษตร ปี 2558 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ โดยในส่วนของ ธุรกิจน้ำตาล นั้น ในปีการผลิต 2557/2558 ยังคงเป็นปีที่ทั่วโลกมีอุปทานส่วนเกินเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ทั้งนี้ United States Department of Agriculture (USDA) ประเมินว่ามีอุปทานน้ำตาลส่วนเกิน 3.7 ล้านตัน ทำให้ราคาน้ำตาลทั่วโลกยังคงตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ผลประกอบการของผู้ผลิตน้ำตาลจึงมีแนวโน้มลดลงในปี 2558 แต่กำไรอาจลดลงไม่มากเหมือนผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เพราะโครงสร้างต้นทุนการผลิตน้ำตาลยืดหยุ่นกว่าจากระบบแบ่งปันรายได้และการขยายตัวของผู้ประกอบการสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น เอทานอล และไฟฟ้า
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ในปี 2558 ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 รายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 12%-20% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2557 แต่ต่ำกว่าปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 21%-28% ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลมีหนี้ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูง โดยอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1-1.4 เท่าในปี 2557 สำหรับปี 2559 นั้นยังคงต้องติดตามราคาน้ำตาลว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ท่ามกลางปัจจัยด้านลบต่าง ๆ เช่น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคน้ำตาล ปริมาณสินค้าคงคลังสะสมจำนวนมาก และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการให้ลดลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายรายไม่มีภาระการลงทุนจำนวนมากในระยะใกล้ จึงน่าจะสามารถรักษาโครงสร้างเงินทุนให้ทรงตัวอยู่ในระดับเดิมได้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 ราย ได้แก่ บจก. น้ำตาลมิตรผล (A+/Stable) บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL -- A/Stable) และ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR -- BBB-/Stable)
ในส่วนของ ธุรกิจไก่และหมู นั้น ปี 2558 เป็นช่วงตกต่ำตามวัฏจักรจากปัญหาอุปทานล้นตลาดหลังจากที่ผู้ผลิตหลายรายขยายกำลังการผลิตจำนวนมากในปี 2557 และอุตสาหกรรมไก่ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่ คือ บจก. สหฟาร์ม กลับมาดำเนินการหลังจากหยุดการผลิตไป ในขณะที่ความต้องการบริโภคชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์บกปรับตัวลงมาก ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการจึงลดลงตามราคาเนื้อสัตว์บก กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) จึงลดลงกว่า 30% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ทำให้กระแสเงินสดของกลุ่มปรับตัวลงตามวัฏจักร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกยังคงมีอยู่สำหรับธุรกิจไก่จากความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหลังจากประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้อนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รวม 324,657 ตัน เติบโต 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไม่มีแรงกดดันเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์จึงคาดว่าธุรกิจสัตว์บกจะฟื้นตัวตามวัฏจักรโดยลำดับในปี 2559 ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัตว์บก 2 ราย ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF -- A+/Stable) และ บมจ. เบทาโกร (A/Stable)
อุตสาหกรรมกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัว
โรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2558-2559 โดยมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริม ได้แก่ สัดส่วนของประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2563 และ 25% ในปี 2573 นอกจากนี้ ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนระดับแนวหน้าของไทยก็ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ในขณะที่มาตรฐานบริการก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
บริษัทในกลุ่มนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 3 รายซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 อันดับแรก คือ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS -- AA-/Stable) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH -- A+/Stable) และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (BCH -- A-/Stable) ทั้ง 3 กลุ่มมีรายได้รวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 77%-78% ของรายได้รวมของผู้ประกอบการทั้งหมด 14 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (ไม่นับรวม บมจ. สมิติเวช (SVH) ที่เป็นบริษัทย่อยของ BDMS) ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องโดยมีรายได้รวมในครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 41,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมือง โดย BH และ BDMS ได้รับผลบวกจากการที่มีผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มมากขึ้น อัตรากำไรของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี โดย BH และ BDMS มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 31% และ 21% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากเดิมที่ประมาณ 28% และ 18% ในปีก่อน
การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีเนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในขณะที่ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนกระตุ้นให้ความต้องการท่องเที่ยวเติบโตสูงมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติในประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็วจากที่เคยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP ในปี 2553 เพิ่มเป็น 9% ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเอเชีย ได้แก่ จีน (5.5 ล้านคน) และมาเลเซีย (2.3 ล้านคน)
รายได้ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมส่วนมากขยายตัวขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาการเมือง โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนมากมีรายได้ที่ขยายตัวขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 20.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับ 19.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ในขณะที่อัตราหนี้ต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.80 เท่า จากการลงทุนต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 3 ราย ได้แก่ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT -- A+/Stable) บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL-- A/Stable) และ บมจ. ดุสิตธานี (DTC -- BBB+/Stable)
ธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างในปี 2558 ค่อนข้างชะลอตัวลงจากปีก่อนและขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากความล่าช้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล ในขณะการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชนและจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยชะลอตัวจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวลง แต่แม้ว่าจะเผชิญกับปัจจัยลบที่กล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีรายได้ที่ต่อเนื่องมาจากมูลค่างานคงเหลือของโครงการก่อสร้างเดิม ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราค่าแรงงานที่ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก ตลอดจนต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สถานะทางการเงินยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดีจากสภาพตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างตึงตัวทำให้ผู้ประกอบการบางรายมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ
สำหรับ แนวโน้มในปี 2559 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างน่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะทะยอยออกมา เพราะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 สัดส่วนการก่อสร้างจากภาครัฐคิดเป็นประมาณ 54% ของมูลค่าการก่อสร้างในประเทศรวม ส่วนโครงการก่อสร้างภาคเอกชนและโครงการที่อยู่อาศัยคาดว่าจะไม่ขยายตัวมากนัก ตามทิศทางการลงทุนภาคเอกชนต่างๆ และตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงชะลอตัว ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง 7 บริษัท ได้แก่ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (A-/Stable) บมจ. ช. การช่าง (A-/Stable) บมจ. โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (BBB-/Positive) บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (BBB-/Stable) บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ (BBB-/Stable) และ บมจ.พรีบิลท์ (BBB-/Stable)
ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ สภาพตลาดค่อนข้างอิ่มตัว โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2558 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบมีประมาณ 88.3 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรอยู่ที่ประมาณ 127% ทั้งนี้ความต้องการของผู้บริโภคในการใช้บริการด้านข้อมูลมีเพิ่มสูงขึ้น โดยรายได้จากการให้บริการโดยรวมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เพิ่มขึ้นเพียง 3.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ (Non-Voice Services) 26% ในขณะที่รายได้ในส่วนของการให้บริการด้านเสียง (Voice Services) ลดลง 14% ทำให้สัดส่วนของรายได้จาก Non-voice Services สูงกว่ารายได้จาก Voice Services เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2558
ภายใต้สภาวะของจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างอิ่มตัว ทำให้การแข่งขันยังคงค่อนข้างรุนแรง โดยผู้ให้บริการได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งผู้ใช้บริการมาจากคู่แข่ง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการที่ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ (Regulatory Cost) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้คาดว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ต และ 900 เมกะเฮิร์ต (4G) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนแนวโน้มความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังคงต้องลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแข่งขันประมูลใบอนุญาตที่รุนแรง อาจส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อผลประกอบการและภาระหนี้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทกลุ่มธุรกิจนี้ 4 บริษัท ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (AA+/Stable) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (AA+/Stable) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BBB+/Stable)
ผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558
กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 ดังนี้ ทริสเรทติ้งให้บริการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 15 ราย ซึ่งคาดว่ายอดรวมการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้ารายใหม่ทั้งปีของปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ ประมาณ 20-22 รายต่อปี
ในปีนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่จะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปี 2557 เล็กน้อย และคาดว่ายอดคงค้างหุ้นกู้ระยะยาวจะเพิ่มเป็น 2.17 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เทียบกับ 1.83 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ส่วนในปี 2559 นั้นเชื่อว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งน่าจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการออกตราสารหนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำกว่าการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มความต้องการออกตราสารหนี้มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอาหาร และกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม