- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 28 September 2015 22:06
- Hits: 2451
เศรษฐกิจไทยยังทรงตัว รอดอกผลแผนกระตุ้นฟื้นความเชื่อมั่น
บ้านเมือง : ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โดย น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย รายงานบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 4/2558 จากการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในระยะใกล้ การเติบโตของจีดีพีในปี 2558 อยู่ที่ระดับ 2.6% และปี 2559 ไว้ที่ 3.3% ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะ คงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากไปอีกระยะ จับตานโยบายผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศ สนับสนุนทางการเงินและการส่งเสริมธุรกิจระดับจังหวัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นในภาคอุตสาหกรรม หากการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ การเติบโตของเศรษฐกิจจะค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น
เศรษฐกิจไทยยังคงรอการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ในไตรมาสที่ 2 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเล็กน้อยหรือ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ขยายตัว 3.0% ในไตรมาสที่ 1 นอกเหนือจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีแล้ว เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ส่วนใหญ่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นไตรมาสที่ 3 ที่อ่อนแอ นอกจากนี้การส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดนอกเศรษฐกิจกลุ่ม G3 ทั้งนี้ ผลสำรวจภาคธุรกิจยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและการคาดการณ์คำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าแผนการลงทุนภาคเอกชนอาจจะเลื่อนออกไปอีกแม้จะมีการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนปีจากบีโอไอในอัตราที่สูงในปี 2557
นอกจากนี้ เหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ในเดือนสิงหาคมอาจส่งผลให้การเติบโตของการท่องเที่ยวชะลอลงในระยะอันใกล้เนื่องจากหลายประเทศได้ออกคำเตือนการเดินทางมาประเทศไทย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประเมินการสูญเสียรายได้จากเหตุการณ์นี้ไว้ที่ประมาณ 0.4% ของ GDP (จากการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวอาจจะลดลง 1.3 ล้านคน)
เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ รัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่หลังการปรับ ครม.ช่วงเดือนสิงหาคม โดยมุ่งเน้นความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนรายได้ ต่ำแผนการเบิกจ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.8% ของ GDP (ไม่รวมสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้แก่ SME) และมาตรการส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ทันที อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจจะน้อยกว่าคาดหวังเนื่องจากปัจจัยความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อ่อนแออัตราการเติบโตของค่าจ้างที่ชะลอลง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง เราคาดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงต้องพึ่งพาการเบิกจ่ายของแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยประมาณการของรัฐบาล ณ เดือนมิถุนายนแสดงให้เห็นว่าแผนการเบิกจ่าย สำหรับปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 2% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามแผนการลงทุนยังคงเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาด และการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ รอบใหม่อาจก่อให้เกิดความล่าช้าเพิ่มขึ้นในระยะสั้น สำหรับด้านความเสี่ยงทางการคลังเราคาดว่าความต้องการใช้จ่ายที่สูงจะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ใกล้ 3% ของจีดีพีในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่ระดับหนี้สาธารณะยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่า 50% ของ GDP ในช่วงปี 2558-2560
เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในระยะใกล้เราจึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปี 2558 ลงเป็น 2.6% จาก 3.1% แต่คงการคาดการณ์ของปี 2559 ไว้ที่ 3.3% นอกจากนี้ เราได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยลงเป็น -0.7% และ 1.8% สำหรับปี 2558 และปี 2559 ตามลำดับ (จาก-0.4% และ 2.3%) เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยสรุป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากไปอีกระยะ เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีน้อย
ประเด็นด้านนโยบาย
ในเมื่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายของ ธ ปท. (1-4%) ในหลายเดือนแรกๆ ของปี 2559 และ ธปท.เองมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงนี้ นโยบายการเงินจึงน่าจะมีทิศทางเอนเอียงไปด้าน "dovish" เช่นเคย แม้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐจะมีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นก็ตาม อนึ่ง เราคาดว่าความ
เสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกและการอ่อนค่าของเงินบาทในอัตราที่สูงจะมีจำกัด เนื่องจากสองประเด็น คือ 1.การลดการถือครองหลักทรัพย์สกุลเงินบาทของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา และ 2.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนโดยตรงที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงต่อไป
นอกจากนี้ ธปท.มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ดำเนินมาตลอด คือ ให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทมีความยืดหยุ่น โดยคำปราศรัยของรองผู้ว่าฯ ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ที่ตีพิมพ์บน website ธปท. ได้เผยว่าธปท.สนับสนุนการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็น automatic stabilizer ของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่มีการดูแลความผันผวนที่รุนแรงเป็นระยะ โดยคุณผ่องเพ็ญเสริมด้วยว่า การปฏิรูปด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มความ "ลึก" ในตลาดการเงินและการสนับสนุนให้กระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก อย่างสมดุล นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะจัดการกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ เราคาดว่า ธ ปท. ไม่มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการควบคุมกระแสเงินทุน (capital control) ถึงแม้ว่าช่วงนี้มีความกังวลในด้านนี้สำหรับในหลายประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ คุณผ่องเพ็ญได้ตั้งข้อสังเกตจากการศึกษาในอดีตว่า มาตรการประเภทนี้อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบในหลายด้าน เช่น ชื่อเสียงของประเทศ และการลดแรงจูงใจให้เอกชนการบริหารความเสี่ยงของตน เป็นต้น
สำหรับ ในช่วงต่อไป เราต้องจับตาดูความคิดเห็นของผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไป ดร.วิรไท สันติประภพ ซึ่งเป็นอดีตนักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศและสมาชิกปัจจุบันของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ว่าจะมีแนวโน้มเอนเอียงไปด้าน "dovish" หรือ "hawkish" มากกว่าปัจจุบันหรือไม่ แม้ว่าเราคาดว่านโยบายด้านการเงินส่วนใหญ่จะมีความต่อเนื่องก็ตาม
ส่วนในฝั่งของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ การแสดงความคิดเห็นของ ดร.สมคิด ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์การกระตุ้นเศรษฐกิจจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศ ผ่านการสนับสนุนทางการเงินและการส่งเสริมธุรกิจระดับจังหวัด นอกจากนี้ ยังจะมีการเน้นเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชนประสบความสำเร็จ เราคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ จะค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ
ปัจจัยความเสี่ยง คือ การเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไปจากการคาดการณ์เดิมน่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงจำกัดในระยะใกล้ ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายในประเทศยังปราศจากการเผชิญหน้ากัน อย่างไรก็ตาม หากความไม่แน่นอนทางการเมืองยืดเยื้อออกไปเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน เช่น การเสียโอกาสเนื่องจากความล่าช้าของการตัดสินใจทางธุรกิจอันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือการดำเนินงานของแผนปฏิรูปที่ยังมีความไม่แน่นอน เป็นต้น