- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 28 September 2015 22:04
- Hits: 2252
เมื่อพญามังกรอ่อนแรง เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตต่ำ 3%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนลากยาว ส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกและการบริโภคในประเทศของไทยล่าช้าออกไป และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 รวมถึงกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
หลังจากที่มาร์กิตและไฉซินประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้นของจีน ลดลงแตะ 47.0 ในเดือนกันยายน ต่ำสุดในรอบ 78 เดือน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดในแดนลบ เนื่องจากมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 7 ในปีนี้ ชะลอลงเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10 และจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศพบว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงเหลือร้อยละ 6 ในอีก 2 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด การชะลอลงของจีนย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกับจีนและมีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
อุปสงค์ในประเทศจีนที่ชะลอลง นอกจากจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลงแล้ว ยังมีส่วนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกลดลงด้วย เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์อันดับต้นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นอลูมินัม เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว และสินค้าเกษตรอย่างยางพารา ผลกระทบของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผ่านมายังเศรษฐกิจโลกเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปีก่อนเห็นได้จากการนำเข้าสินค้าของจีนในปี 2557ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้าสินค้าของจีนหดตัวรุนแรงถึงร้อยละ 14.5 ในส่วนผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เมื่อผู้บริโภครายใหญ่ลดการบริโภคลงพบ ว่า ราคาสินค้าลดลงมาเมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อน อาทิ ราคาเหล็กหดตัวแรงสุดที่ร้อยละ 56.6 รองลงมาคือยางพาราหดตัวร้อยละ 47.9 และทองแดงกับอลูมินัมหดตัวร้อยละ 30.1 และ 16.7 ตามลำดับ
การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ส่งผลให้รายได้ของผู้ผลิตลดลงตามไปด้วย ไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร รวมทั้งมีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรถึงร้อยละ 40 ย่อมได้รับผลกระทบ สะท้อนจากตัวเลขรายได้ของเกษตรกรในช่วง 8 เดือนแรกของปีหดตัวถึงร้อยละ 12.6 เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง นั่นหมายถึงผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานในประเทศมีรายได้ลดลงส่งผลให้การใช้จ่ายลดลงตามไปด้วย ดังนั้น หากราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไป จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
ด้านการค้า ไทยมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนค่อนข้างสูง การส่งออกไปจีนคิดเป็นตลาดลำดับ 1 ของไทยหรือมีสัดส่วนร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมด เมื่อพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกไปจีนในปี 2557 พบว่าหดตัวถึงร้อยละ 7.9 จากปีก่อนที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.4 และล่าสุดในช่วง 7เดือนแรกของปีนี้ ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.2 ให้ภาพที่สอดคล้องกับการนำเข้าของจีนที่หดตัว นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมคือการส่งออกไปอาเซียน เนื่องจากอาเซียนส่งออกไปจีนมีสัดส่วน 11.6 ทำให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนชะลอลงไปด้วย
ด้านการลงทุน ในช่วงที่ผ่านมานักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากปี 2553 ที่การลงทุนโดยตรงจากจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ของการลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13 ในปี 2557 เป็นรองเพียงญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนร้อยละ 19 การชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลให้ภาคธุรกิจจีนชะลอการตัดสินใจมาลงทุนในต่างประเทศ ส่วนภาคการท่องเที่ยว ศูนย์วิเคราะห์ฯมองว่า จะได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวจีนยังคงเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆในภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว
เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงนั้น กระทบมายังเศรษฐกิจไทยหลากหลายช่องทาง และเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ศูนย์วิเคราะห์ฯประเมินไว้ที่ร้อยละ 3 นอกจากนี้ ผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในช่วง 2 - 3 ปีนี้อย่างแน่นอน ในภาวะที่ภาคการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากปัจจัยภายนอก หากเครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวที่ประคับประคองเศรษฐกิจไทยหมดกำลังลง จะทำการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น