WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

PwCศระPwC ชี้ธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วโลกส่อแววขาดสภาพคล่อง ห่วงเศรษฐกิจซบฉุดผู้ประกอบการไทย

     PwC เผยผลสำรวจงบการเงินบริษัททั่วโลกหลังวิกฤตการเงิน พบภูมิภาคเอเชียเงินทุนหมุนเวียนดีขึ้น เหตุได้อานิสงส์ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจย้ายมาฝั่งตะวันออก แต่ความสามารถในการทำกำไรยังต่ำ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีโลกมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำ แถมต้นทุนเงินกู้สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ อาจประสบปัญหาสภาพคล่องในอนาคตได้ พร้อมห่วงเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังขาดสภาพคล่อง เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว ทำทุนหด รายได้หาย

    นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Bridging the Gap – 2015 Annual Global Working Capital Survey ที่ทำการสำรวจงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำจำนวน 10,215 บริษัททั่วโลกว่า บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการขาดความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Conversion Efficiency: CCE) โดยพบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ (Net Working Capital: NWC%) ของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในปี 2557 อยู่ที่ระดับ 20.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ระดับ 18.5% สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทยังไม่สามารถบริหารกระแสเงินสดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ดีนัก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น นโยบายในการบริหารงาน เป็นต้น

    นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า บริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม โดยพบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิของบริษัทขนาดใหญ่ในปี 2257 อยู่ที่ระดับ 10.2% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิระหว่างบริษัททั้งสองประเภทนี้อยู่ในระดับที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นับจากเกิดวิกฤตการเงิน ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทขนาดใหญ่ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินทุนให้ดีขึ้น ต่างกลับบริษัทขนาดเล็กที่ยังขาดประสบการณ์ในด้านนี้

     "กระแสเงินสด มีความจำเป็นมากต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี แต่ด้วยความที่ธุรกิจเหล่านี้ ยังขาดความสามารถในการนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมาสร้างผลตอบแทนสูงสุดได้ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ และต้นทุนเงินกู้ก็สูง จึงเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่"นาย ศิระ กล่าว

    นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า บริษัททั่วโลกมีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น โดยพบว่า อัตราส่วนการหมุนของทุนดำเนินงาน (Days working capital movements) ในปี 2557 อยู่ที่ 40.1 วัน ลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับปี 2553 อยู่ที่ 40.9 วัน แต่บริษัทกลับถือเงินสดในมือ (Cash-on-hand) เพิ่มขึ้นจาก 2.44 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 99.7 ล้านล้านบาท เป็น 3.17 ล้านล้านยูโร หรือ 130 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% ขณะเดียวกัน ภาระหนี้ก็เพิ่มขึ้นจาก 1.39 เท่าในปี 2553 เป็น 1.7 เท่าในปี 2557 สะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัททั่วโลกยังไม่ดีนัก

     นายศิระ กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัททั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตการเงิน โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรายได้ในช่วง 3 ปี (ปี 2555-2557) อยู่ที่ระดับ 5.1% ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ที่ระดับนี้ ก็คาดว่า ในปี 2558 จะต้องการเงินทุนหมุนเวียนอีก 2.37 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 9.6 ล้านล้านบาท เพื่อนำมารองรับการเติบโตของบริษัท แต่ถ้าบริษัทบริหารจัดการเงินทุนได้ดี จะสามารถสร้างสินทรัพย์จากงบดุลได้ถึงกว่า 9.5 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 39 ล้านล้านบาท

เอเชียต้องปรับแผนบริหารเงินทุนหมุนเวียน

       นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า เอเชียมีอัตราการเติบโตของทุนหมุนเวียนสูงขึ้นจากระดับ 26% เป็น 33% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก (Shift in global economic power) จากฝั่งตะวันตกมายังตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ถือเป็นแนวโน้มหลักที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบให้ช่วงที่ผ่านมา เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่า ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทในเอเชียยังต่ำ สะท้อนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานอยู่ที่ 73.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ขณะที่อีบิทด้ามาร์จิ้น (EBITDA Margin) อยู่ที่ 11.9% เท่านั้น

    นายศิระกล่าวว่า เมื่อลองเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆระหว่างเอเชียกับตะวันออกกลางเห็นได้ชัดว่า การบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทในเอเชียยังต้องปรับปรุงอีกมาก เพราะบริษัทในตะวันออกกลางแม้จะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนสุทธิสูงถึง 17.8% แต่ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็สูงถึง 92.9% เช่นเดียวกับ อีบิทด้ามาร์จิ้นที่ทำได้สูงถึง 23%

   "เอเชียจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารเงินทุนให้มากกว่านี้ โดยเพิ่มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ผ่านวิธีการจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการบัญชีลูกหนี้การค้า และการจัดการบัญชีเจ้าหนี้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้"

ห่วงเอสเอ็มอีไทยขาดสภาพคล่อง

    นายศิระ กล่าวต่อว่า เมื่อกลับมาพิจารณาบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในไทย สถานการณ์ตอนนี้ถือว่า น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศหดตัวตามไปด้วย และมูลค่าการส่งออกก็แทบไม่เติบโตหรืออาจลดลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ฐานทุนของเอสเอ็มอีไทยนั้นค่อนข้างจำกัดและมีต้นทุนสูงกว่า ทำให้การบริหารเงินทุนหมุนเวียนคล่องตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามออกมาตรการให้ความช่วยในด้านต่างๆ อาทิ การปล่อยสินเชื่อ แต่มองว่า ไม่อาจให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ครอบคลุมทั้งประเทศ

    ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานการณ์ของธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยในปีนี้ ถือว่าแนวโน้มชะลอตัว ตัวเลขดัชนีหลายๆ ตัวส่งสัญญาณไม่ดีนัก จากข้อมูลจากรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เดือนพฤษภาคม 2558 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการค้าและบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยู่ที่ 39.9 ลดลงจาก 45.2 ในเดือนก่อน ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ 80.2 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอยู่ที่ 169,496 ล้านบาท ลดลง 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

   นอกจากนี้ การจัดตั้งกิจการใหม่ของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4,523 ราย ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การยกเลิกกิจการกลับมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีการบอกเลิกกิจการทั้งสิ้นจำนวน 977 ราย โดยมองว่า สถานการณ์โดยรวมของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากช่วงครึ่งปีแรกมากนัก

   นายศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ ยังขาดแบบแผนการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดทำงบการเงินที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากงบการเงินจะช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นรายรับ รายจ่าย รู้ความเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดของกิจการได้ชัดเจนมากขึ้น จึงทำให้สามารถวางแผนบริหารกระแสเงินสดและเงินทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่ถือเป็นรากฐานช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!