- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 15 August 2015 21:46
- Hits: 8191
ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองโต 2%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้ก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.8 หลังสถานการณ์ในภาคการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่สู้ดีนัก แม้การใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวยังสามารถขยายตัวได้ก็ตาม
ในวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีกำหนดการแถลงตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสอง โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ หลังเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวเติบโตต่ำกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออก อุปสงค์ภายในประเทศ ผลผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม
การส่งออกในรูปเงินบาทในไตรมาสสอง แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก แต่ยังคงหดตัวถึงร้อยละ 3.5 เทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 4.4 โดยได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ผู้ส่งออกมีรายได้ในรูปเงินบาทสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน จนล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงจากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3.3 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกจะเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นอกจากเศรษฐกิจโลกแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงจากปีก่อนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญกดดันการส่งออกไทย ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ต้องปรับเป้าหมายการส่งออกลงเหลือหดตัวร้อยละ 3.0 จากขยายตัวร้อยละ 1.2
การส่งออกที่หดตัวและการย้ายฐานการผลิตทำให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมแย่ลงตามไปด้วย โดยในไตรมาสสองหดตัวร้อยละ 7.6 จากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตหลังปรับผลทางฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 56.5 ต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 ด้านการบริโภคภาคเอกชนได้รับปัจจัยกดดันต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และยังถูกซ้ำเติมจากภัยแล้ง กระทบรายได้ของเกษตรกร ประกอบกับรายได้จากภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเช่นกัน สะท้อนผ่านดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสสองที่พลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 0.8 จากขยายตัวร้อยละ 0.7 ใน ไตรมาสก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าต้นทุนทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะลดลง แต่ความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินที่ลดลงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก
สำหรับ เครื่องยนต์หลักในไตรมาสสองยังคงเป็นการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรก การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ดีทั้งการเบิกจ่ายงบประจำและงบลงทุน การเบิกจ่ายงบประจำ เช่น ค่าจ้างและเงินเดือน ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากในไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ตามเงินเดือนข้าราชการที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่งบลงทุนขยายตัวถึงร้อยละ 32.4 เป็นการทยอยเบิกจ่ายโครงการลงทุนที่ได้เร่งก่อหนี้ผูกพันตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสสองอยู่ที่ 6.9 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 35.0 สูงกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 จากการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนและมาเลเซีย
จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังคงขยายตัวอยู่ในระดับต่ำและคาดว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวช้า โดยมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ผลกระทบของภาวะภัยแล้ง ทั้งนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสองออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.0