- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 08 August 2015 13:39
- Hits: 5433
เศรษฐกิจและธุรกิจเข้าโหมดภาวะเงินฝืดเร่งแผนกระตุ้น ศก.
บ้านเมือง : นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 58 ปรับลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดเหลือในระดับ 62.6 จากเดือนมิถุนายนอยู่ในระดับ 63.8 นับว่าลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 14 เดือน หลังจากได้ปรับลดลงต่อเนื่องมา 7 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว จากกลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 50 เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง เนื่องจากประชาชนมองว่าค่าครองชีพแพง แม้ราคาสินค้าจะลดลง ห้างสรรพสินค้าต่างพากันลดราคาร้อยละ 50-70 แต่ยังไม่ซื้อสินค้า เพราะยังมองว่าค่าครองชีพแพง จึงต้องการเก็บเงินไว้ในกระเป๋า
ส่วนดัชนีการลงทุนในเอสเอ็มอี และยอดการซื้อรถยนต์ ต่ำสุดในรอบ 10 ปี คนระดับกลางลงไปถึงระดับล่าง เริ่มหาเงินด้วยการกู้ จึงทำให้ยอดหนี้ภาคครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ยอมรับว่า เข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค อีกทั้งยังไม่มีความมั่นใจสถานการณ์ทางการเมือง เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
"การใช้คำว่า ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค เป็นผลมาจากราคาสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน กำลังซื้อไม่ดีขึ้น แม้ราคาน้ำมันลดลง ต้นทุนลดลง กำลังซื้อสินค้ายังน้อย แต่ภาวะเงินฝืดยังไม่รุนแรงน่ากลัว โดยตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง อัตราเงินเฟ้อติดลบและจีพีดีติดลบติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตารัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 มาตรการ การเร่งรัดอัดฉีดเงินออกสู่ระบบผ่านโครงการสร้างถนน การแก้ปัญหาภัยแล้ง 6,500 ล้านบาทของกระทรวงมหาดไทย การโยกงบประมาณส่วนอื่นที่ไม่ใช้มาเก็บไว้ในงบกลางเพื่อจัดสรรลงทุนส่วนที่จำเป็น หากรัฐบาลเร่งรัดเงินลงทุนออกสู่ระบบได้ 1 แสนล้านบาทในช่วงเดือนกันยายน จึงคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.5-4 และอาจทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3
ส่วนกรณีกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกขยายตัวติดลบร้อยละ 3 ยอมรับว่าเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ โดยหอการค้าไทยมองว่าตัวเลขการส่งออกติดลบร้อยละ 3-4, จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2.5-2.9 จึงต้องเน้นเรื่องการค้าตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมจับตาดูการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ เพราะจะส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาท จึงคาดว่าค่าเงินบาทของไทยจะเคลื่อนไหวประมาณ 35-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้มาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 3 มูลค่าส่งออกรวม 220,698 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนสมมุติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เงินบาท 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาสินค้าเกษตรครึ่งปีหลังจะปรับตัวทิศทางดีขึ้น โดยประมาณการดังกล่าวจะอยู่บนสมมุติฐานที่ไทยจะสามารถส่งออกได้มูลค่าเฉลี่ย 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมกลยุทธ์รุกตลาดส่งออกใหม่เพิ่ม หลังจากที่ผ่านมานำคณะเจรจาการค้าที่แอฟริกาใต้ก็ได้ผลตอบรับที่ดี หลังจากนี้จะเร่งเจรจาการค้าเพื่อเพิ่มการส่งออกทั้งภูมิภาคยุโรป เอเชีย จีน ปากีสถาน ซึ่งจะมีการนำคณะไปเร็วๆ นี้