- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Friday, 07 August 2015 17:52
- Hits: 9506
5 เดือนสุดท้าย เดินหน้าสู่ AEC เปรียบ 10 ประเทศอาเซียนเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม‘เสือตื่น’‘เสือหมอบ’ และ ‘เสือหลับ’
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในทางทฤษฎี การเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการรวมทั้งการลงทุนที่ข้ามไปมาระหว่างประเทศที่ง่ายขึ้น จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การเติบโตของรายได้และการแก้ปัญหาความยากจน แต่การเปิดเสรีจะมีบางกลุ่มในแต่ละประเทศที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่เสียประโยชน์อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการหรือถึงขั้นต้องปิดตัวลง
อย่างไรก็ดี แม้จะมีบางกลุ่มเสียประโยชน์ แต่โดยภาพรวมจะเกิดการนำทรัพยากรที่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่มาหมุนเวียนใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ดีขึ้น เช่น ภาคเกษตรกรรมในประเทศไทยอาจเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงเท่าประเทศคู่แข่ง และยังมีการอุดหนุนจากภาครัฐค่อนข้างมาก อีกทั้งพึ่งพาการใช้แรงงานค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปิดเสรีก็จะมีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น ทำให้ประเทศไทยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งมีสัดส่วนในภาคเกษตรสูงแต่กลับมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่ำ ให้แรงงานเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปยังภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ซึ่งก็จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้น แต่ภาครัฐต้องเพิ่มคุณภาพของแรงงานเหล่านี้ให้มีการศึกษามีทักษะที่ดีขึ้นเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ามาสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นด้วย
สำนักวิจัย ได้แบ่งกลุ่มประเทศในอาเซียนออกเป็น 3 กลุ่มตามความพร้อมและผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ
กลุ่มแรก‘เสือตื่น’– แข็งแกร่ง ตื่นตัว พร้อมรวมกลุ่มอาเซียนก่อนประเทศอื่น
ได้แก่ ประเทศที่มีการเปิดเสรีการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นอยู่แล้ว เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่ง 3 ประเทศนี้ไม่ต้องรอ AEC เพราะได้เปิดการค้าเสรีกับประเทศอื่นในภูมิภาคอื่นเรียบร้อยแล้ว (เอฟทีเอ) และกำลังอยู่ในกระบวนการที่จะเปิดเสรีที่กว้างขึ้นไปกว่าแค่การค้าระหว่างประเทศ ทั้ง 3 ประเทศนี้พร้อมแล้วกับ AEC และจะได้ประโยชน์จากการส่งออก และการลงทุนทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน อาหารฮาลาล หรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้อยู่แล้ว รวมทั้งการเปิดเสรีด้านบริการ เช่น ภาคธนาคาร ประกัน และบริษัทหลักทรัพย์
กลุ่มที่สอง‘เสือหมอบ’- พร้อมเปิดเสรีบางส่วน
กลุ่มที่เรียกว่าเป็นเสือหมอบแต่พร้อมกระโจน เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่แม้จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้า ทั้งด้านสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่จะสามารถส่งของไปเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปาทานตลาดโลกได้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังไม่พร้อม ซึ่งจะส่งผลให้การเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเลื่อนออกไปได้ โดยรวมแล้วประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามพร้อมที่จะรับ FTA หรือการลงทุนจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีที่สูงมาพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีก็ จะมีภาคเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะต้องมีการทยอยปรับลดพื้นที่การเพาะปลูก หรือมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไม่อยู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศมีศักยภาพ
ตัวอย่างภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของประเทศไทย ได้แก่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งไทยเองก็มีประสิทธิภาพและความยอมรับจากประเทศอื่น หรืออุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ซึ่งยังมีความต้องการของตลาดโลกอยู่ และแรงงานไทยนับว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าประเทศในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังมีภาคการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นมากกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับ AEC เนื่องจากต้องพัฒนาตลาดให้ไปไกลกว่าประเทศไทย ต้องหาจุดขายที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โบราณสถาน อาจใช้รูปแบบเมืองแฝด หรือ twin cities ที่เชื่อมจังหวัดที่มีรูปแบบการท่องเที่ยวคล้ายกันเป็นจุดขายร่วมกัน เช่นจังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ร่วมกับ เมืองหลวงพระบาง หรือย่างกุ้ง หรือเชื่อมกับเสียมเรียบ เป็นต้น โดยเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ของไทยที่พร้อมที่สุดในการต้อนรับ AEC
สำหรับประเทศอินโดนีเซีย ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศสมาชิก (จำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกและอันดับหนึ่งใน ASEAN) อินโดนีเซียจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้บริโภค (และเป็นมุสลิม) มากที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และตั้งอยู่ระหว่างอาเซียนกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จึงได้เปรียบด้านการส่งสินค้าระหว่าง 2 ภูมิภาคนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติจากทั้งในและนอกอาเซียนสนใจเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมาก ภาคอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียมีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ถ่านหิน วัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจค้าส่ง
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ มีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ เช่น ทองแดง ทองคำ เป็นต้น และมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย ในขณะที่มีทักษะทางภาษาดี พร้อมเปิดรับการลงทุนด้านการบริการจากต่างประเทศ ฟิลิปปินส์มีจุดแข็งด้าน ธุรกิจแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร เริ่มมีการขยายฐานการผลิตในธุรกิจยานยนต์มากขึ้น และยังมีสินแร่ใต้ดินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งพร้อมรองรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงาน อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก อีกทั้งประเทศตั้งอยู่ในเขตมรสุมและมักประสบปัญหาภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง
สำหรับประเทศเวียดนามได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากมาแล้วระยะหนึ่ง และยังมีแนวโน้มได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่อเนื่อง เนื่องจากกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านคมนาคม ประกอบกับมีแรงงานจำนวนมากและอัตราค่าจ้างแรงงานยังต่ำรวมทั้งแรงงานมีความขยัน การเมืองมีเสถียรภาพ จำนวนประชากรมากและรายได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วจึงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำมันสำรองมาก (อันดับ2 ของอาเซียน) และมีแนวชายฝั่งทะเลยาว มีผู้ประกอบการ Brand สำคัญของโลกเลือกเป็นฐานการผลิต และที่สำคัญพื้นที่ติดกับประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ สินค้าที่มีศักยภาพได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานปิโตเลียม อุตสาหกรรมถุงมือยาง และอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
กลุ่มที่สาม‘เสือหลับ’
นับเป็นอีกภาพหนึ่งของเออีซี คือกลุ่มประเทศ เมียนม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเปิดการค้าการลงทุนใน AEC และอาจจะไม่ได้เปิดเสรีการค้าการลงทุนภายในปีนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ในทางทฤษฎี ประเทศที่มีรายได้น้อยและมีประสิทธิภาพในการผลิตไม่สูงเหล่านี้ กลับจะได้ประโยชน์สูงที่สุดจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุน สาเหตุสำคัญคือ เมื่อเทคโนโลยีจากการค้าการลงทุน การส่งออกจากประเทศในภูมิภาคเข้ามาสู่ 3 ประเทศนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มทักษะแรงงานรวมทั้งความสามารถในการลดความผันผวนของค่าเงิน และมีรายได้จากภาคการส่งออกมาพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
อ้นที่จริง 3 ประเทศเสือหลับนี้น่าจะได้ประโยชน์สูงสุดและชนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงขึ้น จุดแข็งของประเทศกลุ่มนี้คือมีค่าแรงที่ไม่สูง มีทรัพยากรธรรมชาติมากทั้งแร่ธาตุ ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป รับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน และอาหารทะเลแช่แข็ง รวมทั้งมีพรมแดนติดกับประเทศจีนและอินเดียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมีขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเสริมความสามารถในการส่งออกในอนาคต ในเมื่อ 3 ประเทศนี้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดแล้วไทยเองซึ่งอยู่ศูนย์กลางของ 3 ประเทศนี้ก็จะได้ประโยชน์มากเช่นกันรวมทั้งความสามารถในการผลิตของประเทศไทยในด้านสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้ง 3 ประเทศนี้และเราเป็นจุด ยุทธศาสตร์ด้านการคมนาคมในกลุ่มประเทศนี้ด้วยเช่นกัน ก็จะสามารถที่จะเสริมความสามารถในการส่งออกและการผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางใน 3 ประเทศนี้ได้
สุดท้าย ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จาก AEC อยู่ที่การปรับตัว บางอุตสาหกรรมต้องปรับตัว บางอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ในเชิงรุกเข้าไปสู่ประเทศอื่น อุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวได้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ที่มีค่าจ้างที่สูง อาจต้องเคลื่อนย้ายพี่ยังประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้ประโยชน์ เช่นอุตสาหกรรมอาหารอาหารแปรรูป ก่อสร้าง อุปโภคบริโภค ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ก็จะสามารถได้รับแรงงานเข้ามาสู่อุตสาหกรรมที่ได้มากขึ้นซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาแรงงานขาดแคลนในประเทศไทยได้ในอนาคต
ปัญหาสำคัญของไทยในอนาคตคือปัญหาทางด้านการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนที่เข้ามาประเทศไทยและต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วนว่าจะไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะของนักเรียนอาชีวะ มหาวิทยาลัย หรือทักษะทางด้านภาษาของแรงงาน ซึ่งจะสามารถตอบรับการลงทุนทุนของต่างชาติได้ดีขึ้น การพัฒนารัฐวิสาหกิจ ลดการผูกขาดของภาครัฐ และส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
จุดแข็ง โอกาสและปัจจัยที่ควรระมัดระวังในกลุ่มประเทศอาเซียน
ประเทศ |
จุดแข็ง |
โอกาสทางธุรกิจของไทย |
ประเด็นที่ควรระมัดระวัง |
เสือตื่น |
|||
สิงคโปร์ |
- ประชากรมีกำลังซื้อสูง - มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง - กฎระเบียบเอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจหรือการลงทุนจากต่างประเทศ |
- ธุรกิจที่อาศัยความ ได้เปรียบจาก ภูมิศาสตร์ของสิงคโปร์ เช่น โลจิสติกส์ และ ปิโตรเคมี |
- กฎหมายที่เข้มงวดในการจ้างแรงงานต่างชาติที่ไม่มีทักษะ |
บรูไน |
- เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน เช่น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ |
- ธุรกิจการผลิตในเขตที่รัฐสนับสนุน เช่น วัสดุก่อสร้าง อาหาร และเคมีภัณฑ์จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็น พิเศษ |
- ค่าจ้างแรงงานสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน - การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด |
มาเลเซีย |
- มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน -แรงงานคุณภาพดีสอดคล้องกับระดับค่าจ้าง -ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง |
-ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร โรงแรม สปา -ธุรกิจแปรรูปอาหารและ สินค้าเกษตร |
-ยังมีข้อจำกัดเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเชื้อสาย มลายูหรือที่เรียกว่าภูมิบุตร -การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด |
เสือหมอบ |
|||
อินโดนีเซีย |
-ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน (เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก) -จำนวนประชากรวัยแรงงานสูง - ต้นทุนการผลิตต่ำ - ทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ |
-ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ -ประมง ธุรกิจอาหาร ฮาลาล - โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ท่าเรือ สนามบิน) |
-การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด -การขนส่งในประเทศยังไม่เชื่อมโยงกันทั้งหมด |
ฟิลิปปินส์ |
- ทรัพยากรแร่ธาตุอุดม สมบูรณ์ เช่น ทองแดง ทองคำ เป็นต้น - ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย ในขณะที่มีทักษะทางภาษาดี |
-ธุรกิจแปรรูปอาหารและ สินค้าเกษตร -เริ่มมีการขยายฐานการ ผลิตในธุรกิจยานยนต์ มากขึ้น -ยังมีสินแร่ใต้ดินที่ยังไม่ ได้รับการพัฒนา |
-โครงสร้างพื้นฐานยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก -ประเทศตั้งอยู่ในเขตมรสุมและมักประสบปัญหาภัยธรรมชาติ |
เวียดนาม |
-ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ -ประชากรส่วนใหญ่อยู่ใน วัยแรงงาน -ความมีเสถียรภาพ ทางการเมือง |
-ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ -ธุรกิจแปรรูปการเกษตร และอาหารสัตว์ -ธุรกิจบริการด้านที่เกี่ยว เนื่องกับการท่องเที่ยว |
-เศรษฐกิจยังเผชิญปัญหาเสถียรภาพ เช่น การขาดดุลบัญชีเงินสะพัด และอัตรา เงินเฟ้อสูง -ปัญหาด้านการคุ้มครอง สิทธิของทรัพย์สินทาง ปัญญา |
ไทย |
-ข้อได้เปรียบทางที่ตั้งที่อยู่ในใจกลางของภูมิภาค -ลักษณะทางวัฒนธรรมและนิสัยใจคอของคนไทยที่ปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย |
-ธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของ ไทยได้แก่ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ -ธุรกิจอาหาร -ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการบริการด้านการแพทย์ |
-แรงงานขาดแคลน ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น -เสถียรภาพการเมือง |
เสือหลับ |
|||
กัมพูชา |
- ค่าจ้างแรงงานต่ำ -ทรัพยากรธรรมชาติที่ อุดมสมบูรณ์ -ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี |
-ธุรกิจสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป -ธุรกิจแปรรูปอาหารและ สินค้าเกษตร -ธุรกิจบริการด้านที่เกี่ยว เนื่องกับการท่องเที่ยว |
-ขาดแคลนโครงสร้าง พื้นฐานและแรงงานที่ มีทักษะ |
สปป.ลาว |
-ทรัพยากรธรรมชาติที่ อุดมสมบูรณ์ -แหล่งพลังงานทดแทน อัตราการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจสูงที่สุดใน ภูมิภาคอาเซียน |
-ธุรกิจการผลิตไฟฟ้า -ธุรกิจค้าปลีกและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค -ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง -ธุรกิจแปรรูปอาหารและ สินค้าเกษตร |
-การแข่งขันในสปป.ลาว จากคู่แข่งต่างประเทศเริ่มมี ความรุนแรงขึ้น |
เมียนมาร์ |
-แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์แห่งใหม่ ของภูมิภาค -ค่าจ้างแรงงานต่ำที่สุดใน อาเซียน -มีฐานกำลังแรงงานจำนวนมาก |
-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงาน แร่รัตนชาติ -ธุรกิจพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน -ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง กับการท่องเที่ยว |
-การปฏิรูปทางการเมือง และเศรษฐกิจ และกฎ ระเบียบที่ยังไม่นิ่ง -โครงสร้างพื้นฐานยัง ต้องได้รับการพัฒนา อีกมาก เช่นระบบการ ขนส่งและกระแสไฟฟ้าที่ ยังไม่เพียงพอต่อความ ต้องการ - ที่ดินราคาสูง |
จับตา AEC ปฏิวัติภาค
ธนาคาร
เลิกแข่งด้วย ‘ดอกเบี้ย’‘ราคา’‘สาขา’
แข่งกันด้วย ‘ตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายได้ตรงจุด’‘เครือข่าย’ ‘พันธมิตร’
นายอมรเทพ เปิดเผยว่า AEC จะนำมาซึ่งการเปิดเสรีการเงินข้ามชาติ นำมาซึ่งการปฏิวัติในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ สิ่งที่น่าจับตา ไม่ใช่การแข่งขันด้วยดอกเบี้ยและราคา ความใหญ่ความเล็กไม่ได้อยู่ที่จำนวนสาขา แต่ความได้เปรียบจะอยู่ที่ใคร แบงก์ไหน จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดที่สุด ผู้ได้เปรียบคือแบงก์ที่มีธุรกรรมหลากหลาย และมีเครือข่ายเชื่อมโยงตลาดในประเทศต่างๆช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ลงทุนข้ามชาติ นอกจากนี้ ถ้ามีพันธมิตรทางธุรกิจจากอุตสาหกรรมอื่นๆ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
“AEC มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ความเสี่ยง คือ ถ้าการแข่งขันรุนแรงเกินไป แบงก์เล็กอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะไม่รู้ว่าธนาคารต่างชาติที่จะเข้ามาไทยจะมารูปแบบไหน แบบเล็ก แบบใหญ่ แต่สุดท้ายก็จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางธุรกิจ และธปท.กำลังทำแผนแม่บทเพื่อเตรียมความพร้อมให้ธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วนโอกาส คือ การที่การแข่งขันในอนาคตจะไม่ได้แข่งกันด้วยสาขา แต่อยู่ที่การให้บริการธุรกรรมการเงินที่หลากหลาย มีทางเลือก ซึ่งเป็นจุดที่ไทยน่าจะใช้ประโยชน์ในการก้าวเป็นศูนย์กลางทางการเงินของอาเซียน สุดท้ายคนได้ประโยชน์คือ ลูกค้า” นายอมรเทพ กล่าว
อนึ่ง ธปท.มีแผนแม่บทในการเปิดเสรีภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งธปท.ต้องการให้ธนาคารไทยแข็งแกร่งก่อนเปิดเสรีการเงิน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับการดูแลอย่างรัดกุมจากธปท.อยู่แล้ว การดำเนินธุรกิจได้รับการตรวจสอบสม่ำเสมอ และมีความรอบคอบกว่าในอดีต ปัจจุบัน ธนาคารไทยแข็งแกร่ง แต่โครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคารไทยขับเคลื่อนโดยธนาคารใหญ่ ดังนั้น ธนาคารกลางและเล็กต้องดิ้นรนในการทำธุรกิจในตลาดที่แข่งขันได้ ในเมื่อแข่งขันได้ ก็น่าจะอยู่รอดได้
ปัจจุบัน การเปิดเสรีมีทั้งธนาคารไทยออกไปทำธุรกิจต่างประเทศและธนาคารต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในไทย ปัจจุบัน ธนาคารไทยที่ไปเปิดสาขาในต่างประเทศเป็นการตามไปดูแลลูกค้า แต่ในอนาคต จะได้เห็นลูกค้าของประเทศนั้นๆเข้ามาใช้บริการและธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ไทย