- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 05 August 2015 11:57
- Hits: 4730
SCB EIC มองแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะต่อไปยังชะลอตัว คาดทั้งปี 58 ติดลบ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC)คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 58 มีแนวโน้มติดลบ เนื่องจากในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวที่ระดับ 0.85% และในอีก 5 เดือนหลังของปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่น่าจะขยายตัวถึง 1.19% ต่อเดือนโดยเฉลี่ย
"อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะยังคงชะลอตัว และจะไม่กลับมาขยายตัวเพิ่มได้อย่างรวดเร็วในระยะใกล้ ปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำในอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากผลกระทบของภาวะภัยแล้ง ผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด แต่สัญญาณการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกยังคงไม่ชัดเจนมากนัก โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันลดลงอีกเช่นกัน"SCB EIC ระบุ
ล่าสุด วันนี้กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค.58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 1.05%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) โดยเมื่อเทียบระหว่างเดือนแล้วปรับลดลง 0.07%MOM เป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคงตัวที่ระดับ 0.94%YOY เช่นเดียวกับเดือน พ.ค.และเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ ภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงจนทำให้ระดับราคาอาหารสดสูงขึ้นโดยเฉพาะผักและผลไม้ โดยอัตราเงินเฟ้อในส่วนนี้เร่งขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่รวมแอลกอฮอล์ เดือน ก.ค.ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.1%YOY จาก 0.51%YOY ในเดือน มิ.ย. โดยถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน ตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของราคาผักสดและผลไม้สดมากถึง 7.76%YOY จากที่ขยายตัว 3.07%YOY ในเดือน มิ.ย.เนื่องจากผลกระทบของภาวะภัยแล้ง อีกทั้งราคาปลาและสัตว์น้ำก็ขยายตัวต่อเนื่องที่ 2.97%YOY เนื่องจากมีปัญหาการcrackdown on ประมงผิดกฎหมาย
ขณะที่ในส่วนของเงินเฟ้อที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม หดตัว 2.22%YOY ซึ่งเป็นการหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 1.9%YOY อันเป็นปัจจัยมาจากราคาเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยในเดือน ก.ค.น้ำมันเชื้อเพลิง หดตัวมากขึ้นที่ระดับ 22.5%YOY จากที่หดตัว 19.7%YOY ในเดือนมิ.ย.สอดคล้องกับระดับราคาน้ำมันขายปลีกเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย และจากการวิเคราะห์แหล่งที่มาของเงินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อในส่วนพลังงานนั้นกลับมาหดตัวเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง ตรงข้ามกับอัตราเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดเดือน ก.ค.ที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือน พ.ค.และมิ.ย.สะท้อนความเสี่ยงด้านสภาวะเงินฝืดลดลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 0.94%YOY คงที่เท่ากับในสองเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือน ส.ค.57 ที่ผ่านมา หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหมวดของอาหารปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย.เนื่องจากการชะลอตัวของอาหารสำเร็จรูปเดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 1.07%YOY ชะลอตัวจากระดับ 1.22%YOY ในเดือนก่อนหน้า แต่อัตราเงินเฟ้อในส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารได้ปรับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า และยังคงทรงตัวใกล้เคียงเดิมมาตั้งแต่ต้นปี 58 ทำให้โดยรวมแล้วคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเร่งตัวขึ้นได้ในที่สุดหากราคาน้ำมันค่อยๆ ปรับขึ้น ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีความเสี่ยงต่อสภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด