- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 30 July 2015 20:31
- Hits: 6431
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หั่นเป้าส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 3-4% หลังตัวเลข มิ.ย. ทรุดกว่าคาด กดจีดีพีโตต่ำกว่า 3%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ลดเป้าส่งออกปีนี้ คาดติดลบ 3-4% จากเดิมคาด -1.7% หลังส่งออกมิ.ย.ทรุดกว่าคาด เล็งหั่นจีดีพีปีนี้จากเดิมคาดโต 3% มองเงินบาทปีนี้ผันผวน คาดสิ้นปีอ่อนค่าแตะ 35 บาท/ดอลล์ ขณะที่คาดกนง. จะคงดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้าก่อนปรับลด 1 ครั้งในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยปรับลดเป้าส่งออกปีนี้ลงจากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 1.7% เป็น ติดลบ 3-4% หลังตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย. ติดลบ 7.8% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าที่ติดลบ 5-6% โดยเกิดจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
“ปีนี้ส่งออกจะกลับมาเป็นบวกคงเป็นไปได้ยากแล้ว ซึ่งถ้าดูมูลค่าส่งออกในมิ.ย. 57 อยู่ที่ 1.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มิ.ย. 58 มีมูลค่าแค่ 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และ ถือว่าตัวเลขเดือนมิ.ย.ออกมาติดลบมากสุดในรอบ 3 ปี”
จากตัวเลขการส่งออกที่ติดลบมากกว่าคาด ส่งผลให่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีปีนี้ มีโอกาสที่จะปรับลดลง จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3% ซึ่งจะใช้เวลาประเมินอีก 1-2 เดือน เนื่องจากต้องพิจารณาตัวเลขอย่างอื่นประกอบ เช่น การลงทุน และการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยถ้าหากยังล่าช้าออกไปอีกอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้แย่กว่าที่คาดการณ์
“เดิมเรามองว่าครึ่งปีหลังจะฟื้น เพราะท่องเที่ยวยังดี การบริโภคก็ดี แต่พอตัวเลขส่งออกแย่ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้การส่งออกกลับเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวไปแล้ว โดยตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ตอนนี้มีแต่การเบิกจ่าย และ การลงทุนภาครัฐเท่านั้น”
ในส่วนของค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยคาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 35 บาท/ดอลล์ โดยตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3/58 ที่กรอบ 34.50-35.00 บาท/ดอลล์ ซึ่งค่าเงินบาทในปีนี้จะมีความผันผวนตามข่าว ตามการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC)
“เงินบาทปีนี้ผันผวน ถ้าเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยบาทก็จะอ่อนค่า เพราะเงินจะไหลออกไป แต่ถ้าไม่ส่งสัญญาณบาทก็จะกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยมองว่าบาทอ่อนไม่ได้ส่งผลดีต่อส่งออกเสมอไป เพราะตอนนี้เรานำเข้ามาเยอะ โดยเฉพาะน้ำมัน ประกอบกับ ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านถือว่าเรายังอยู่ในระดับกลางๆ ซึ่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ค่าเงินเขาอ่อนว่าเรา”
นายเบญจรงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.25% โดยการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 5 ส.ค. นี้ คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 1.50% ก่อนที่จะปรับลด 1 ครั้งในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งถือว่าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงมา