- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 06 July 2015 22:19
- Hits: 5857
‘ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ’ เชื่อปัญหากรีซกระทบศก.ไทยไม่มาก แต่แนะแบงก์ชาติควรลดดบ.นโยบายต่ำกว่า 1% รองรับตลาดเงินโลกผันผวน
'ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ประเมินลงประชามติหนี้สินกรีซไม่ว่าผลออกมารับรองหรือไม่รับรองเงื่อนไขเจ้าหนี้ผลกระทบและความเสี่ยงระยะสั้นต่อระบบการเงินยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เจ้าหนี้ต้องตัดสินใจลดหนี้จำนวน 323,000 ล้านยูโรหรือ 11.9 ล้านล้านบาท (หนี้เกือบขนาดเท่ากับจีดีพีของไทย) พร้อมกับการเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจและยกเครื่องระบบการคลังและระบบการเงินครั้งใหญ่ เสนอให้ภาคเอกชนและตลาดการเงินต้องระมัดระวังในการลงทุน ภาครัฐเพิ่มระดับการเร่งรัดการใช้จ่ายเร็วขึ้นและมากขึ้น แบงก์ชาติควรประชุมพิเศษ - ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่า 1% การลงทุนภาครัฐต้องขยายตัวให้สูงกว่า 40-50% ในช่วงครึ่งปีหลัง (ไตรมาสแรกทำได้ที่ระดับ 37.8%) หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการนำเข้าซึ่งไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นไปที่การใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแทน
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินลงประชามติหนี้สินกรีซไม่ว่าผลออกมารับรองหรือไม่รับรองเงื่อนไขเจ้าหนี้ผลกระทบและความเสี่ยงระยะสั้นต่อระบบการเงินยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสนอให้เจ้าหนี้ต้องตัดสินใจลดหนี้จำนวน 323,000 ล้านยูโรหรือ 11.9 ล้านล้านบาท (หนี้เกือบขนาดเท่ากับจีดีพีของไทย) หากใช้วิธียืดหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้และให้กู้เงินเพิ่มไปเรื่อยๆย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง การลดหนี้จำเป็นต้องดำเนินการพร้อมกับการเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจและยกเครื่องระบบการคลังและระบบการเงินครั้งใหญ่
วิกฤตการณ์หนี้สินกรีซเป็นผลจากการใช้นโยบายประชานิยมอย่างขาดวินัยทางการเงินการคลังและการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ ทำให้ประเทศเกิดความล่มสลายทางเศรษฐกิจ การโหวตไม่ยอมรับเงื่อนไขแต่เจรจาต่อรองไม่ออกจากยูโรโซนหรือเจรจาต่อรองในเรื่องที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อกรีซ เศรษฐกิจยูโรโซนและระบบการเงินโลก หากลงมติรับรอง รัฐบาลอเล็กซิส ซิปราสต้องลาออกก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองอีก การแก้ปัญหาจะหยุดชะงักไประยะหนึ่งก่อนจะได้รัฐบาลใหม่ซึ่งมีแนวโน้มจะทำตามเงื่อนไขเจ้าหนี้เต็มที่ มาตรการเข้มงวดทางการเงินการคลังและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะถูกนำมาใช้ตามเงื่อนไขเจ้าหนี้จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจกรีซที่หดตัวอยู่แล้ว หากมีการลงประชามติรับรอง ประเทศภาคีสมาชิกยูโรโซนอาจไม่เชื่อใจว่า รัฐบาลปัจจุบันจะปฏิรูปเศรษฐกิจตามเงื่อนไขเจ้าหนี้ ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
การไม่รับรองแต่เจรจาขออยู่ในยูโรโซนต่อไปจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้ลูกหนี้ และขอใช้เงินสกุลเงินเดิม (สกุลเงินดรักมาร์) ควบคู่กับยูโรโซนไประยะหนึ่งจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นและแก้ปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง การใช้เงินสองสกุลควบคู่กันต้องทำไปพร้อมกับมาตรการควบคุมเงินทุนหรือ Capital Control แต่หากลงมติไม่รับรองเงื่อนไขเจ้าหนี้และออกจากยูโรโซนและไม่เจรจากับเจ้าหนี้จะเกิดผลลัพธ์ทางลบรุนแรงต่อกรีซ ต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของยูโรโซน รวมทั้งความผันผวนในตลาดการเงินโลกอย่างมากในระยะสั้นและระยะปานกลาง เมื่อกรีซต้องกลับไปใช้เงินสกุลเดิม (สกุลเงินดรักมาร์) กรีซจะประสบปัญหาความตกต่ำของค่าเงินอย่างรุนแรง แต่จะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น นำเข้าหดตัวรุนแรง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น เงินออมมากขึ้น ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น แล้วจะเริ่มทยอยชำระหนี้ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับตัวตรงนี้ แต่เฉพาะหน้า ความเสี่ยง คือ เจ้าหน้าหนี้งดความช่อยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมและอาจไม่ปล่อยกู้ให้กับธนาคารของกรีซ
ดร.อนุสรณ์ คาดการณ์ว่า เงินดอลลาร์น่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เงินยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่องในอัตราเร่งมากขึ้น เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง เงินทุนจะไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสู่สินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร กองทุนตลาดเงิน เป็นต้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เสนอให้ทางการไทยและตลาดการเงินต้องเตรียมตัวรับมือและติดตามอย่างใกล้ชิดกรณีกรีซผิดนัดชำระหนี้โดยเฉพาะความผันผวนจากตลาดการเงินโลก ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีการประชุมคณะกรรมการธนาคารและคณะกรรมการนโยบายการเงินพิเศษและพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่ำกว่า 1% เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้น ต้องเริ่มเตรียมรับมือการชะลอตัวเพิ่มมากขึ้นของเศรษฐกิจจีนและความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติภาคการเงินของจีน
แม้ผลกระทบจากกรีซในเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีหนี้สินต่างประเทศน้อย ทุนสำรองระหว่างประเทศและยอดเกินดุลบัญชีเงินสะพัดในระดับสูง อาจเกิดความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐเร็วขึ้นและมากขึ้น การลงทุนภาครัฐต้องขยายตัวให้สูงกว่า 40-50% ในช่วงครึ่งปีหลัง (ไตรมาสแรกทำได้ที่ระดับ 37.8%) หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อการนำเข้าซึ่งไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในในช่วงนี้ เช่น การจัดซื้ออาวุธด้วยเงินงบประมาณจำนวนมาก เป็นต้น โดยขอให้เน้นใช้งบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจแทนจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
‘นิด้า’ เตือน นลท.ไทยอย่าวิตกต่อสถานการณ์ประเทศกรีซ เหตุขนาดเศรษฐกิจขนาดเล็กไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง
ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้จับตาประเทศกรีซให้ประชาชนโหวต รับ/ไม่รับแผนปฏิรูปทางเงิน ระบุ ไม่ว่าจะประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คาดไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เหตุขนาดเศรษฐกิจกรีซมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น เตือนนักลงทุนไทยอย่าวิตกต่อสถานการณ์มากเกินไป
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรMPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ MPA NIDA เปิดเผยว่า สถานการณ์ประเทศกรีซที่รัฐบาลให้ประชาชนโหวตแผนปฏิรูปทางการเงินของกลุ่มทรอยก้า ซึ่งประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) นั้นไม่ว่าผลโหวตจะออกมาในรูปแบบไหน เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอียูและส่งผลต่อความผันผวนไปยังเศรษฐกิจโลก เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของกรีซที่มีสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของเศรษฐกิจอียู และร้อยละ 0.3 ของเศรษฐกิจโลก จึงไม่ส่งผลยาวนานและขยายวงกว้าง แต่จะมีผลต่อค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าลงได้และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
ขณะที่ผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยนั้น เชื่อว่ามีไม่มากนัก ด้วยสัดส่วนการส่งออกระหว่างไทยและกรีซมีเพียงร้อยละ 0.08 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากจึงไม่มีผลกระทบต่อตลาดส่งออกของไทย เนื่องจากในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทำให้ตลาดทุนไทยมีความผันผวนบ้างเท่านั้น ดังนั้น นักลงทุนไทยไม่ควรตระหนกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากเกินไป
“นักลงทุนไทยไม่ควรวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของประเทศกรีซมากเกิน เพราะไม่ว่าผลการโหวตจากการทำประชามติจะออกมาในรูปแบบใด ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก” รศ.ดร.มนตรี กล่าว