- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 04 July 2015 19:42
- Hits: 3283
อีไอซี คงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2015 ไว้ที่ 3%
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามที่ได้ประเมินไว้ รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ การส่งออกที่หดตัวถึง 4.2% ในช่วง 5 เดือนแรก รวมถึงการลงทุนของรัฐที่ยังล่าช้าในการเบิกจ่าย สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง อีไอซีคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้าง โดยการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีรายได้มากขึ้นในรูปของเงินบาทไม่ว่ายอดขายในรูปสกุลเงินต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งน่าจะช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการและช่วยพยุงรายได้ของแรงงานได้เช่นกัน นอกจากนี้ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 28.8 ล้านคนในปีนี้ และการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายนนี้ จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยรวมแล้ว อีไอซีประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2015 จะขยายตัว 1.4% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.5% ส่วนการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 1.5%
ปัจจัยภายในประเทศเป็นความเสี่ยงหลักที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าคาดการณ์ ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรกนั้นภาคการเกษตรกำลังเผชิญกับภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเพาะปลูกในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาระบบชลประทาน ในส่วนที่สองคือภาคการท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส MERS ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคของภาครัฐ นอกจากความเสี่ยงหลักแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเนื่องคือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายภาครัฐซ้ำอีก จนทำให้มีการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนออกไป ดังนั้น อีไอซีคาดว่าภาครัฐคงต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาภัยแล้ง และยังคงมองว่ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 1.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาภาวะเงินฝืด หรือติดกับดักสภาพคล่อง (liquidity trap) แต่อย่างใด
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่บ้างเช่นกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างญี่ปุ่นและยุโรโซนยังมีความเปราะบาง อีกทั้งตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดพันธบัตรมีความผันผวนเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากความกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้หรืออาจต้องหลุดจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ซึ่งจะมีผลกระทบกับตลาดเกิดใหม่เป็นอย่างมาก สำหรับประเทศไทย การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ คงไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินมากนัก เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยปัจจัยเหล่านี้รวมไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ
SCB EIC ชี้เงินเฟ้อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดเร่งตัว H2/58 มองทั้งปี 0.1%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 58 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 1.07%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) โดยเมื่อเทียบระหว่างเดือนแล้วเป็นการปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคงตัวที่ระดับ 0.94%YOY เช่นเดียวกับเดือนพฤษภาคม
SCB EIC ยังคงมุมมองเดิมว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนพฤษภาคม และจะเริ่มเร่งตัวขึ้นได้อย่างช้าๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป โดยจะมีปัจจัยเร่งตัวของเงินเฟ้อพื้นฐานดังต่อไปนี้ ผลของราคาน้ำมันที่จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 58, เงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดที่จะเร่งตัวขึ้น เมื่อผลกระทบทางอ้อมจากราคาน้ำมันผ่านต้นทุนค่าขนส่งหายไป ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่จะทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับตัวขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป ตามทิศทางต้นทุนอาหารสดและราคาก๊าซหุงต้นที่เตรียมปรับขึ้นตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน
"อีไอซีประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 58 ที่ระดับ 0.1% และ 0.7% ตามลำดับ" เอกสารเผยแพร่ระบุ
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน พบว่าราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเป็นแรงผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ดัชนีราคาพลังงานในเดือนมิถุนายนหดตัวอยู่ที่ระดับ 13.9%YOY โดยหดตัวช้าลงจาก14.4%YOY ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับระดับราคาน้ำมันขายปลีกเฉลี่ยที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นได้ และหากวิเคราะห์จากที่แหล่งที่มาของเงินอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก็จะพบว่าการหดตัวที่เกิดจากเงินเฟ้อในส่วนส่วนพลังงานนั้นก็ชะลอลงเช่นกัน เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีราคาน้ำมันขายปลีกเฉลี่ยแพงที่สุดในปี 57
นอกจากนี้ องค์ประกอบอื่นๆ ของดัชนีพลังงานเดือนมิถุนายน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานในบ้านต่างก็ทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคมทั้งสิ้น ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านพลังงานต่อการคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเริ่มทยอยหายไปตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดเดือนมิถุนายนยังคงหดตัวที่ระดับ 0.1%YOY ต่อเนื่องจากการหดตัว 0.9%YOY ในเดือนพฤษภาคม จากผลกระทบทางอ้อมของต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ถึงแม้ราคาอาหารสดส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.6% MOM SA จากปัญหาภัยแล้งก็ตาม
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 0.94%YOY ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการเร่งตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หลังจากที่ชะลอตัวลงตลอดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 57 เป็นต้นมา คล้ายคลึงกับกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสำเร็จรูปกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้งที่ระดับ 1.1%YOY เมื่อเทียบกับระดับ 1%YOY ในเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งเงินเฟ้อในส่วนของสินค้าที่ไม่ใช่อาหารยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับใกล้เคียงเดิมมาตั้งแต่ต้นปี 58 ทำให้โดยรวมแล้วอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นได้ในที่สุด หลังจากที่มีทิศทางชะลอตัวเรื่อยมาในช่วงก่อนหน้านี้ นับเป็นสัญญาณทางราคาว่าเศรษฐกิจไทยมิได้เสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด
อินโฟเควสท์
ไทยพาณิชย์ คงเป้าจีดีพีโตได้ 3% ห่วงภัยแล้ง-ประมงฉุดเป้าเคลื่อน
แนวหน้า : นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยังคงประมาณเศรษฐกิจไทยในปีนี้โตร้อยละ 3 แม้ว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังชะลอตัว โดยคาดหวังการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ที่เร่งตัวขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตมากกว่าร้อยละ 3 ได้ หากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายได้มากกว่าร้อยละ 70 และเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดเล็ก จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้
นายพชรพจน์ ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอีกหลายด้าน โดยเฉพาะมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหาภัยแล้งและผลกระทบจากการหยุดเดินเรือของเรือประมง หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงของไทย ทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3 และยิ่งซ้ำเติมภาคการส่งออกที่ปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 1.5 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.3 หลังจากที่ 5 เดือนแรกการส่งออกหดตัวแล้วถึงร้อยละ 4.2 แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง อยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลัง ก็ไม่สามารถจะช่วยให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ ส่วนวิกฤตหนี้ในกรีซ เชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวกรีซ และการส่งออกไทยไปยังกรีซมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ทั้งนี้ เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 เหลือ 1.25 ในช่วงปลายปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อยังต่ำสามารถที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นได้อีก
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้เล็กน้อย เติบโตร้อยละ 3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัว และมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น และการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 และมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นร้อยละ 0.25-0.50 ตามแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้น
นอกจากนี้ นายพชรพจน์ ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความแข็งแกร่งมากกว่า 18 ปีที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 40 ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าหนี้ระยะสั้น 2-3 เท่า และสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจ และตลาดการเงินโลกได้