- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Friday, 03 July 2015 23:05
- Hits: 5212
วิกฤตกรีซ ก้าวสู่จุด เหนือควบคุม
มติชนออนไลน์ : วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมทางการเมืองหรือในเชิงเศรษฐกิจการเงิน วิกฤตกรีซ เริ่มต้นจากการก่อกำเนิดอย่างเป็นทางการของ "เงินสกุลยูโร" และกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีใช้เงินสกุลนี้ที่เรียกกันว่า "ยูโรโซน" เมื่อปี 2543 หรือในปี ค.ศ.2000
ในปีนั้น กรีซหมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ "ความรุ่งเรืองและมั่นคง" ภายใต้หลักประกันคือความน่าเชื่อถือในเงินสกุล "ยูโร" นี้
มกราคม 2544 กรีซได้เป็นสมาชิกยูโรโซนสมความมุ่งหมาย แล้วก็รุ่งโรจน์เหมือนอย่างที่คาดฝันไว้ เมื่อเศรษฐกิจบูมสุดขีดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเงินลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลกันเข้ามา รัฐบาลกรีซสามารถออกพันธบัตรได้ง่ายๆ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะมีเครดิตของเงินยูโรค้ำประกันไว้
น่าเสียดายที่กรีซไม่นำเงินเหล่าไปใช้ในทางที่ควรจะใช้ นำไปลงทุนในสิ่งที่เกิดดอกออกผล หรือพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งเอกชนและรัฐบาลกรีซทำในสิ่งที่คล้ายๆ กันคือ "อีลุ่ยฉุยแฉก" อยากซื้อรถก็กู้ อยากได้บ้านก็กู้ซื้อบ้าน "ฟองสบู่" ก็เริ่มบานเบอะออกไปเรื่อยๆ ยิ่งรัฐบาลยิ่งตัวดี ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือประกาศจัดโอลิมปิกเกมส์ปี 2004 อย่างโอฬาร ทุ่มเงิน 3 แสนล้านบาท สร้างสนามกีฬาใหม่เอี่ยม แล้วก็ทิ้งร้างไว้ร่วมสิบปีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปดูแล แบบเดียวกับที่บ้านเรากระแนะกระแหนกันว่าสร้างเอาไว้เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย
ยิ่งไปกว่านั้น ในการตรวจสอบสถานะทางการเงินปีเดียวกัน พบว่าจริงๆ แล้ว กรีซไม่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดการเป็นหนึ่งใน "ยูโรโซน" ด้วยซ้ำไป เพราะ "อำพราง" ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของตัวเองให้ต่ำเข้าไว้มาตั้งแต่ปี 2542
ตอนนั้นประเด็นเหล่านี้ถูกปล่อยให้ผ่านเลยไป มีเพียงคำเตือนกลายๆ ว่าให้ระวัง เพราะกรีซกำลังใช้จ่ายเหมือนชาติมหาเศรษฐีทั้งๆ ที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจยังคงสภาพเป็น "ชาติกำลังพัฒนา"
ฟองสบู่ในกรีซมาแตกโพละเอาจริงๆ เมื่อปี 2552 ด้วยแรงส่งจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้นที่บานปลายกลายเป็นวิกฤตตราสารหนี้ทั่วยุโรปในปีนั้น
ในปี 2552 อยู่ดีๆ "ยูโรโซน" ก็พบความจริงอีกครั้งว่า ภาวะขาดดุลงบประมาณของกรีซที่แจกแจงไว้ว่าอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นตัวเลข "ตกแต่ง"
จริงๆ แล้ว ปาเข้าไปกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
ทั้งๆ ที่ยูโรโซนขีดเส้นที่เหมาะสมเอาไว้ว่าไม่ควรเกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หนี้ภาครัฐพรวดพราดขึ้นเป็น 112 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ควรบันทึกเอาไว้ด้วยว่า เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กรีซขาดดุลงบประมาณทุกปี เพราะกรีซเป็นประเทศที่มีอัตราการหนีภาษีสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ไล่ตั้งแต่เศรษฐี มหาเศรษฐี เรื่อยมาจนถึงชนชั้นกลางที่มีอาชีพหน้าที่การงานทั้งหลาย
รัฐบาลพยายามลดค่าใช้จ่าย ขึ้นภาษี ตามแนวทางการรับมือกับวิกฤตหนี้ จนมีการหยุดงานประท้วง แต่จนแล้วจนรอดก็หนีไม่พ้น กรีซต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากทรอยกา ที่ประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) และ ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) เป็นเงิน 110,000 ล้านยูโร เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2553 เพราะไม่มีเงินจะไปใช้หนี้ 310,000 ล้านยูโร ที่ส่วนใหญ่กู้จากธนาคารยักษ์ใหญ่ในชาติยูโรโซนทั้งหลาย
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นสำหรับคนกรีกทั่วไปก็เหมือนตกจากสวรรค์แล้วไม่ได้ลงมาหยุดอยู่แต่พื้นดิน แต่เลยลงไปไกลถึงนรกนั่นเลยทีเดียว
จีดีพี ของกรีซหดตัวลงเหลือเพียงไม่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของที่เคยผลิตได้ในปี 2552 อัตราการว่างงานพุ่งพรวดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ และถ้าคิดเฉพาะแรงงานหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 25 ปีลงมา อัตราว่างงานจะสูงเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว หนี้ภาครัฐแทนที่จะลดลง กลับเพิ่มเป็น 177 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
เงินที่เคยไหลเข้า ไหลออกอย่างต่อเนื่อง พอถึงปี 2555 รัฐบาลกรีซก็ต้องทำความตกลงกับทรอยกาอีกครั้งขอรับความช่วยเหลืออีกรอบเป็นเงิน 130,000 ล้านยูโร
ตอนนี้รัฐบาลกรีซเป็นหนี้อยู่เป็นภูเขาเลากาถึง 320,000 ล้านยูโร 240,000 ล้านยูโรในจำนวนนั้นมี "ทรอยกา" เป็นเจ้าหนี้
แต่การให้เงินกู้ของทรอยกาย่อมมีเงื่อนไขกำกับมาด้วย เงื่อนไขสำคัญๆ มีตั้งแต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างระบบบำเหน็จบำนาญ การปฏิรูปเรื่องการจัดเก็บภาษี เป้าหมายก็คือทำให้รัฐบาลมีงบประมาณเกินดุลให้ได้ 4.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี (ไม่นับรวมเงินที่แยกไว้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้) ให้ได้ภายในปี 2557 (ที่ต่อมาเลื่อนเป็น 2559 แล้วเป็น 2561)
ไม่ว่ากรีกหน้าไหนไม่ชื่นชอบมาตรการรัดเข็มขัดแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการปรับลดบำเหน็จบำนาญ ที่แต่ละปีรวมแล้วเป็นเงินสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และเรื่องขึ้นภาษี
ความไม่ยอมรับนี้เห็นได้ชัดจากรูปธรรมที่พรรคการเมืองซ้ายกลางอย่างพาซ็อก ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในตอนที่ทำความตกลงเรื่องเงื่อนไขรับความช่วยเหลือจากทรอยกา เหลือ ส.ส.อยู่ในสภากรีกที่มีทั้งหมด 300 ที่นั่ง เพียง 13 คน จากที่เคยมีถึง 160 คน ในปี 2552
ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด พรรคซีริซา พรรคการเมืองแนวทางซ้ายจัดนำโดย อเล็กซิส ซิปราส นักการเมืองหนุ่มวัย 41 ปี ที่ไต่เต้ามาจากการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กวาดเสียงข้างมากเกือบเด็ดขาด จับมือกับพรรคขวาจัดอย่างพรรค อาเนล (อินดีเพนเดนท์ กรีกส์) จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเหลือเชื่อด้วยจุดยืนร่วมเพียงอย่างเดียวคือ "ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด-เจรจาเงื่อนไขหนี้ใหม่"
รัฐบาลใหม่กรีซใช้วิธีการเจรจาไปผัดหนี้ไป เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา กรีซผัดหนี้ระลอกแรกที่ต้องใช้คืนไอเอ็มเอฟไปแล้วครั้งหนึ่ง พยายามต่อรองเงื่อนไขใหม่กับเจ้าหนี้ทั้ง 3 ฝ่ายแบบปรับปรุงข้อเสนอใหม่เสนอกันไปมาอยู่หลายครั้งหลายหน จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้
การเจรจาต่อรองยาวนาน 5 เดือนครั้งนี้ถูกอุปมาไว้ว่า จากความแตกต่างที่เคยกว้างเหมือนมหาสมุทร หลงเหลือเพียงแค่ทางน้ำแคบๆ แต่กลับไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด "กล้า" พอที่จะกระโดดข้ามความแตกต่างนั้นได้ ฝ่ายหนึ่งนั้นมีการเมืองภายในประเทศค้ำคออยู่ อีกฝ่ายก็เหมือนมีบรูณภาพแห่งยูโรโซนทั้งหมดเป็นเดิมพัน
ชนิดที่ดูเหมือนว่า "ไพ่ตายสุดท้าย" ของอเล็กซิส ซิปราส ที่ประกาศให้มีการลงประชามติ เอา-ไม่เอา มาตรการรัดเข็มขัด ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ก็ไม่สามารถบีบอีกฝ่ายให้ยอมจำนนได้
เงื่อนปมประชามติที่ว่านั้น ทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ ทำให้วิกฤตกรีซกลายเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม พาทั้งสองฝ่ายเดินลงเหว
ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยแบบหัวร้างข้างแตกหรือคอหักกันฝ่ายละกี่มากน้อย!
โพลล์ชี้ผลลงประชามติกรีซส่อเค้าคู่คี่สูสี
ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดเผยให้เห็นว่า ชาวกรีซที่ตั้งใจออกเสียงสนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดในการลงประชามติวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.นี้ มีจำนวนคู่คี่สูสีกับผู้ที่คัดค้าน
euro2day.gr เปิดเผยว่า ชาวกรีซ 47% เอนเอียงไปทางโหวต "Yes" เพื่อสนับสนุนมาตรรัดเข็มขัด ด้วยความหวังว่าเจ้าหนี้จะยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ ในขณะที่ชาวกรีซอีก 43% ต้องการโหวต "No" เพื่อคัดค้านมาตรการนี้ตามท่าทีของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส
อินโฟเควสท์