- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Tuesday, 12 May 2015 15:40
- Hits: 2087
SCB EIC : อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ติดลบ 1.04%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ติดลบ 1.04% โดยระบุว่า
Event
กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนเมษายนปี 2015 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 1.04%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) จากที่หดตัว 0.57%YOY ในเดือนมีนาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงเหลือเพียง 1.02%YOY จาก 1.31%YOY ในเดือนก่อนหน้า
Analysis
เงินเฟ้อทั่วไปหดตัวมากขึ้นจากแรงหนุนของทั้งราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และราคาอาหารสดที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนในส่วนพลังงานยังคงหดตัวที่ระดับ 14.2%YOY สอดคล้องกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งที่ติดลบ 17.4%YOY ด้านอัตราเงินเฟ้อในส่วนของอาหารสดของเดือนเมษายนติดลบที่ระดับ 0.21% หลังจากที่แสดงสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนมาตั้งแต่เดือนมกราคมและเริ่มติดลบตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อสัตว์ซึ่งมีการปรับราคาลดลงถึง 4.4%YOY นับเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่ได้รับอานิสงส์จากต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลง
ต้นทุนการประกอบอาหารที่ลดต่ำลงทั้งจากราคาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารนับเป็นปัจจัยหลักที่ชะลอเงินเฟ้อพื้นฐานลงโดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนของอาหารสำเร็จรูปเดือนเมษายนชะลอลงเหลือเพียง 1.3%YOY เมื่อเทียบกับระดับ 3.3%YOY และ 2.6%YOY ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ตามลำดับ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อในส่วนของอาหารปรุงสำเร็จบริโภคในบ้านที่ชะลอเหลือเพียง 0.9%YOY สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการประกอบอาหารที่ชะลอลงอย่างมาก ดังนั้น การชะลอที่ค่อนข้างรุนแรงของราคาอาหารปรุงสำเร็จซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของการคำนวณเงินเฟ้อพื้นฐาน จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานชะลอตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน เหลือเพียง 1.02%YOY
Implication
อีไอซียังคงคาดการเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 0.7%แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มติดลบในช่วงครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไปเศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย 1.) ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว 2.) กำลังซื้อในมือผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง และ 3.) การปรับการคาดการณ์ด้านเงินเฟ้อของภาคเอกชนไปในทิศทางที่เร่งตัวขึ้นหลังคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นอาจส่งผลในระยะสั้นทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวได้ไม่มากนัก จึงอาจเปิดทางให้คณะกรรมการนโยบายการเงินสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก
โดย : ดร.ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ([email protected])
เขมรัฐ ทรงอยู่ ([email protected])
EIC | Economic Intelligence Center