- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 16 April 2015 18:14
- Hits: 3978
รายงานพิเศษ: 'นาโนไฟแนนซ์' ของใหม่แก้หนี้นอกระบบ
ไทยโพสต์ : ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนฐานราก ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัด ไปจนถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะ'ความยาก'ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบนั่นเป็นเครื่องสะท้อนถึงการขยายตัวของ 'หนี้นอกระบบ' ในปัจจุบัน
โดยจากข้อมูลพบว่า ในปี 2557 จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีสูงถึง 8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนของไทยทั้งหมดที่ 22 ล้านครัวเรือน โดยในแต่ละครัวเรือนมีหนี้นอกระบบสูงถึงครัวเรือนละ 6 แสนบาท-1.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 5 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบทั้งหมด โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับ ธปท. ในการเดินหน้าโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์) โดยหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้นั้นจะเน้นให้แก่บุคคลธรรมดา วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยมีกระบวนการที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริหาร และค่าธรรมเนียมทุกประเภทรวมกันไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเฉลี่ยเดือน 3% ซึ่งในส่วนนี้จะมีการเปิดกว้างให้ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนสามารถเข้ามาร่วมประกอบธุรกิจได้
สำหรับ คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้น ต้องเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 7% กรณีที่มีเกินกว่ากำหนดต้องปรับลดให้อยู่ในอัตราที่กำหนดภายในวันที่ 23 ม.ค.2559 หรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศ ธปท. มีผลบังคับใช้
ต้องยอมรับว่า โครงการ'สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์' มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานที่ดี คือการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึง
แหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรมในการทวงถามหนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้กู้ไม่คำนึงถึงความสามารถของตนในการชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดพฤติกรรมการหมุนหนี้ไปเรื่อยๆดังนั้น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถเข้าถึงผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะมีกระบวนการให้สินเชื่อที่มีความยืดหยุ่น และมีการประเมินกันว่าความต้องการขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะมาจาก 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2.กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) คาดว่า ลูกหนี้กลุ่มที่ 1 ที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ประมาณ 0.5-1% ของปริมาณหนี้นอกระบบทั้งหมด หรือประมาณ 2.5-5 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญที่มองว่าสัดส่วนของหนี้นอกระบบที่จะเข้ามาในระบบมีไม่มากนัก คือกลุ่มลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ที่ยังคงเลือกที่จะกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกัน ทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้ง่าย และไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนกับการกู้ยืมเงินในระบบ แม้จะต้องเจอกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าก็ตาม
ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มที่ 2 ที่คาดว่าจะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 30% ของปริมาณสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ โดยลูกหนี้กลุ่มนี้น่าจะเข้ามาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แทนการไปกู้นอกระบบ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของนาโนไฟแนนซ์สูงสุดที่ 36% ต่อปี ถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบอย่างมาก
แต่การจะใช้โครงการ'สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์'เพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยอย่าง "หนี้นอกระบบ" อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีเงื่อนไขของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาร่วมให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่อาจกลายเป็นข้อจำกัดในการเดินหน้าโครงการได้ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่อาจจะเลือกปิดความเสี่ยงด้วยการเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการมีความคุ้นเคยอยู่แล้วมากกว่า ก่อนจะเริ่มขยายการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกหนี้ ที่แตกต่างจากหนี้นอกระบบ
นอกจากนี้ มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แม้จะมีกระบวน การให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่น แต่สินเชื่อดังกล่าวยังมีความเสี่ยงอยู่มากจากการที่ "ไม่มีหลักประกันการกู้ยืม" ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ประกอบการน่าจะมีวิธีการพิจารณาการให้สินเชื่อโดยการตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างเข้มงวด ส่งผลให้การเข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของประชาชน ยังคงกลายเป็น "เรื่องยาก" อยู่ดี
หากพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน จะเห็นว่าการเคลื่อนย้ายของหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ในระบบนั้นคงเป็นไปอย่างช้าๆ โดยการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ยังคงต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริม เช่น การส่งเสริมความรู้ในเรื่องการออมและการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ถูกต้องและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น การติดตามแก้ไขพฤติกรรมลูกหนี้หลังจากได้รับความช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญคือ การส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
สำหรับ ความคืบหน้าของโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในขณะนี้นั้น กระทรวงการคลังระบุว่า "สมหมาย ภาษี" รมว.การคลัง เตรียมจรดปากกาเซ็นลงนามให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย เพื่อให้สามารถดำเนินการปล่อยกู้ตามโครงการดังกล่าวภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยจากข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่จะสามารถเดินหน้าธุรกิจได้จากการได้รับใบอนุญาต ได้แก่ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด, บริษัท ไทยเอช แคปปิตอล จำกัด และบริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการอีก 1 รายที่ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลเอกสาร และคาดว่าจะส่งมาให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ จากผู้ประกอบการทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกชนอีก 12 ราย รวมทั้งสิ้นเป็น 16 ราย จากผู้ประกอบการที่มีการสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการเข้ามาแล้วทั้งสิ้นกว่า 70 ราย โดยกระทรวงการคลังคาดว่า เมื่อมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ได้ใบอนุญาตและสามารถดำเนินธุรกิจได้ จะมีเม็ดเงินจากสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในปี 2558 เข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับ 16 บริษัท ที่ยืนคำขอกับ ธปท. แยกเป็นกลุ่มที่จัดส่งเอกสารให้ ธปท.ครบถ้วนแล้ว และได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว จำนวน 3 บริษัท โดยผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถเริ่มประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ทันที แต่ต้องแจ้งวันเริ่มประกอบธุรกิจเป็นหนังสือให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าก่อน ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้กำหนดรูปแบบรายงานการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องนำส่งให้กระทรวงการคลังและ ธปท.เป็นประจำทุกเดือน เพื่อใช้ในการติดตามผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และติดตามการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนรายย่อยในระยะต่อไป
ส่วนกลุ่มที่รอยื่นเอกสารและกลุ่มที่ ธปท.เห็นว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และอยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารให้ ธปท.เพิ่มเติม จำนวน 11 บริษัท ได้แก่ บริษัทเมืองไทย ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือบริษัทศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ, บริษัท ศักดิ์สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด, บริษัท สหไพบูลย์ จำกัด, บริษัท ทิฐิวิสุทธิ จำกัด (มหาชน), บริษัท อินเทลลิเจนท์ ทีที.พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท มีนาลีสซิ่ง จำกัด, บริษัท อะมานะฮ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด(มหาชน), บริษัท เอเชีย เจมส์ ฟอร์ยู จำกัด และบริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล มหาชน (จำกัด) ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นบริษัทที่ขอยกเลิกคำขออนุญาต เนื่อง จากมีคุณสมบัติไม่ครบ และยังไม่พร้อมดำเนินการ มีจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท วัฒนาธนสินทรัพย์ จำกัด และบริษัท กรุงไทย ออโต้ ลีส จำกัด
ยังมีคำถามที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมาก เกี่ยวกับความสำเร็จของ "สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์" ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ว่าจะมีประสิทธิภาพและสามารถสะสางปัญหาที่เรื้อรังนี้มานานได้อย่างที่ทางการตั้งความหวังหรือไม่ โดยเรื่องนี้ "กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงว่า "โครงการนาโนไฟแนนซ์ เป็นการปล่อยสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการเข้าถึงเงินทุนของประชาชนรายย่อยเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป้าประสงค์หนึ่งคือ การลดปัญหาหนี้นอกระบบ ที่คาดว่าแม้จะแก้ได้ไม่มาก แต่ก็คงไม่น้อย"
ขณะที่ 'ประสาร ไตรรัตน์วรกุล'ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า "ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า โครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ดีแค่ไหน แต่ส่วนตัวยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเกี่ยวกับโครงการนี้ เพราะการปล่อยสินเชื่อ ก็คือการสร้างหนี้ให้เพิ่มขึ้นอยู่ดี และมองว่าการสนับสนุนให้เกิดการกู้เงินนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างแท้จริง ควรหันกลับไปดูที่ "รายได้" มากกว่า ให้มีระดับที่เหมาะสมและเพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบที่ดีที่สุด คงหนี้ไม่พ้นภาคครัวเรือนที่ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตน รวมถึงต้องมีวินัยทางการเงินที่สูงขึ้น รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสม ไม่ใช้จ่ายแบบเกินตัว ซึ่งนี่อาจเป็นการแก้ปัญหาระดับพื้นฐาน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคงขึ้นอยู่กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการประกอบอาชีพ รวมถึงความรู้เรื่องการเงิน ต้องมีรูปธรรมที่ชัดเจนให้ประชาชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง เพื่อจะไม่ได้ต้องกลับมาสู่วังวนของคำว่า "หนี้" อีกต่อไป.
รวมมิตรมาตรการแก้หนี้นอกระบบ 14 ปี
ต้องยอมรับความตั้งแต่ช่วงปี 2544 ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลได้มีความพยายามในการออกมาตรการ หรือโครงการในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่กลายเป็นปัจจัยถ่วงขีดความสามารถในการเติบโตด้านรายได้ของประชาชนรายย่อยในประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ มิ.ย.2544 ได้เริ่มดำเนินโครงการ "ธนาคารประชาชน" ซึ่งดำเนินงานโดย "ธนาคารออมสิน" โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต การชำระหนี้อื่นๆ โดยจะให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน รายละไม่เกิน 2 แสนบาท
ต่อเมื่อ พ.ย.2546 ได้เริ่มดำเนินโครงการ'ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ'โดย'กระทรวงมหาดไทย'มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยบนพื้นฐานของความสมดุลพอดี ภายใต้ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" และเมื่อ ธ.ค.2556 ได้เริ่มดำเนินโครงการ "ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ" ที่ดำเนินการโดย "กระทรวงมหาดไทย" เช่นกัน ซึ่งถือเป็นระยะแรกในการจัดทำข้อมูลและการเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบของธนาคารรัฐ 5 แห่ง และเมื่อ ม.ค.2550 ได้เริ่มดำเนินโครงกา'ปราบปรามผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ไม่ได้รับอนุญาต" ดำเนินการโดย'ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)' ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะปราบปรามธุรกิจที่เกี่ยวกับหนี้นอกระบบและผิดกฎหมาย ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อบุคคลโดยไม่มีใบอนุญาต ขณะที่เมื่อ ธ.ค.2552 ได้เริ่มดำเนินโครงการ 'ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ' โดยโครงการนี้เป็นผลงานของ 'กระทรวงการคลัง'ที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบผ่านธนาคารรัฐ 6 แห่ง ได้แก่ ออมสิน, ธอส., ธ.ก.ส., กรุงไทย, เอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์
มี.ค.2553 เริ่มดำเนินโครงการ 'อาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน'โดย ธ.ก.ส.ที่ให้ชุมชนคัดเลือกผู้ที่มีจิตอาสา มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับนับถือและไว้วางใจของคนในชุมชนมาอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ต่อมาเมื่อ มิ.ย.ปีเดียวกัน 'ธ.ก.ส.'ได้เริ่มเดินหน้าโครงการ 'ธนาคารชุมชน'โดยจัดตั้งธนาคารชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อ'ธนาคารชุมชนศรีฐาน'ที่จังหวัดเลยขึ้น
และเมื่อ ส.ค.2553'กระทรวงการคลัง'เริ่มเดินหน้า'โครงการบัตรลดหนี้ วินัยดีมีเงิน' เพื่อให้ลูกหนี้ที่เข้าสู่ระบบจากโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมีประวัติการชำระตรงตามกำหนดตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลับไปเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ และเมื่อ ก.ย.2553 'กระทรวงยุติธรรม'ได้เดินหน้าโครงการ'ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.ยธ.) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ โดยทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนมาพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือและประสานกับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม
ธ.ค.2553 'กระทรวงการคลัง'ได้เริ่มเดินหน้าโครงการ'คลังในบ้าน'โดยให้ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแบบโฮลเซล แก่องค์กรการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ธนาคารชุมชน เพื่อให้สถาบันเหล่านี้นำไปปล่อยกู้ต่อแก่สมาชิกพร้อมกำหนดเงื่อนไขการกู้ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายขึ้น ต่อมาเมื่อ ม.ค.2554'กระทรวงการคลัง'ได้เดินหน้าโครงการ "ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ'โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบผ่านธนาคารรัฐ 6 แห่ง ระยะที่ 2
ต่อมาเมื่อ มิ.ย.2554'กระทรวงการคลัง'ได้เดินหน้าโครงการ'สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์'โดยเป็นสินเชื่อที่ให้เพื่อการประกอบอาชีพในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี และเมื่อ ม.ค. 2555 ธปท.ได้เดินหน้าโครงการ'ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน' เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ยังมีโครงการ "สำรวจผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ" ในพื้นที่ 29 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภาค อาทิ ร้านทอง ร้านจำหน่ายจักรยานยนต์ในต่างจังหวัดที่มักปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่เป็นคนในท้องถิ่น เพื่อชักจูงให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาจดทะเบียนและขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
ขณะที่ ก.ย.2557 ได้มีการเดินหน้าโครงการ '"แก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน'โดยฝีมือของ'ธ.ก.ส.'เพื่อลดภาระหนี้ของเกษตรกรโดยเฉพาะ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดวงเงินปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี และล่าสุดคือ ม.ค.2558'กระทรวงการคลัง'ได้เร่งผลักดันโครงการ'สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์'โดยมีการมอบหมายให้ ธปท.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ.