- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 16 April 2015 17:40
- Hits: 2503
ดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อแผ่วรอกระสุนนัดใหม่แบงก์ชาติ
ไทยโพสต์ : สถานการณ์เศรษฐกิจภายใต้กฎอัยการศึกจนถึงปัจจุบัน ที่เปลี่ยนเป็นมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 ดูเหมือนจะยังคงซึม และยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะยังมีอีกหลายโครงการของรัฐที่ยังรอความชัดเจน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นในเรื่องของการปฏิรูปทางการ เมืองมากกว่า จึงทำให้เรื่องเศรษฐกิจที่เป็นสิ่งสำคัญของปากท้อง กลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเท่าที่ควร โดยพระเอกที่ในแต่ละปีจะมีบทบาทเด่นๆ อย่างการส่งออก กลับกลายเป็นตัวร้ายที่สุดไปได้ เมื่อการส่งออกในปี 2257 ติดลบอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ที่ยืดเยื้อมาแรมปี ซึ่งในปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ติดลบ 0.3% แต่ยังมีความหวังว่า ในปี 2558 จะขยับขึ้นมาได้ โดยประมาณการไว้ที่ 3.5%
สำหรับ อีกปัจจัยที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ นั่นคือ หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงที่สุดในโลกถึง 80% มากสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะโครงการรถคันแรก ที่สร้างหนี้ให้กับ ประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และหาก ต้องกระตุ้นด้วยการบริโภคก็จะเป็น การเพิ่มหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นอีก ดังนั้น ต้องหาวิธีกระตุ้นแบบละมุนละม่อมที่สุด
เมื่อหนทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มเหลือน้อย ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ปล่อยกระสุนนัดสำคัญออกมา นั่นคือ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากเดิมอยู่ที่ 2% เหลือ 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากคณะกรรมการประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งแรงกระตุ้นจากภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2557 และเดือน ม.ค.2558 ที่ยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า อีกทั้งแรงส่งโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีน้อย รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเบิกจ่ายช้ากว่าที่คาดด้วย
ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเกือบต่ำที่สุดในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ แต่การใช้เครื่องมือทางการเงินของสิงคโปร์ต่างจากไทย จึงถือได้ว่าอัตราดอกเบี้ยไทยต่ำที่สุดก็ว่าได้
แต่ผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ กลับไม่ได้ผลมากนัก เพราะถึงยังไงก็ไม่สามารถดึงให้คนออกมากู้เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ การออมเงินกลับทำได้ดีกว่าอีกด้วย ด้วยเพราะคนส่วนใหญ่มองเห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร การออมเงินน่าจะเป็นการป้องกันได้ดีที่สุดในยามฉุกเฉิน
แม้ทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะพร้อมใจลดดอกเบี้ยลงมาแล้วก็ตาม ยอดขอสินเชื่อยังคงไม่เฟื่องฟูเท่าที่ควร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมความต้องการสินเชื่อทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนน่าจะยังคงมีแรงส่งที่อ่อนกำลังลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในไตรมาส 1/2558 จะมีการขยายตัวที่ 3.5-4% ชะลอลงจาก 4.5% ในไตรมาส 4/2557 มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ ที่มองว่าจะยังคงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ประมาณ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนสินเชื่อธุรกิจในไตรมาสแรก น่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน คาดว่าจะอยู่ที่ 1.0-1.5% จาก 2.4% ในไตรมาส 4/2557 มาจากผลของการชำระหนี้คืนของผู้ประกอบการในช่วงต้นปีที่แล้ว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ คาดว่าจะหดตัวลง -2.5% ถึง -1.5% ชะลอลงจาก 0.4% ในไตรมาส 4/2557
ด้านสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คาดว่าจะขยายตัว 3.7-4% ในไตรมาสแรกนี้ เมื่อเทียบกับ 3.9% ในไตรมาส 4/2557
ส่วนภาพรวมสินเชื่อในส่วนของรายย่อยมีแนวโน้มที่จะชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยอยู่ที่ 7-7.5% ทางด้านสินเชื่อส่วนบุคคล คาดว่าจะยังมีการขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสแรกนี้ แต่เป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ และแม้ว่าธนาคารจะยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ก็คาดว่าน่าจะเห็นสัญญาณที่ผู้ประกอบการบางแห่งเริ่มกลับมาขยายตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลอีกครั้ง จากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
ท่ามกลางความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการคัดกรองลูกค้า ทำให้มองว่าการแข่งขันของสินเชื่อจะไม่เน้นทางด้าน ราคามากนัก และที่สำคัญ ธนาคารย่อมต้องการที่จะรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้สูงขึ้นไปกว่านี้
หลังจากนี้ ต้องจับตาดูกระสุนนัดต่อไปของ ธปท. ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ และการลดในครั้งต่อไป จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน
ขอให้พิจารณาผลการตอบรับในครั้งนี้ประกอบการตัดสินใจจะเป็นการดี.
ปีแพะสินเชื่อแบงก์ขยายตัว 8%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ชี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2558 มีแนวโน้มดีกว่าปี 2557 ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียม เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองและความพยายามของภาครัฐในการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตผ่านการลงทุน รวมถึงรายได้จากธุรกรรมดิจิตอล และ Trade Finance
ปัจจัยการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูงในปี 2557 มีส่วนสำคัญทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพียงร้อยละ 5 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ชะลอตัวเอามากๆ จากที่สามารถขยายตัวในระดับเลขสองหลัก (ระหว่างร้อยละ 11-15) มา 4 ปีติดต่อกัน ดังนั้น การเมืองที่นิ่งขึ้นในปีนี้ กอปกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเดินหน้าได้ดีกว่าเดิม จะส่งผลให้ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในปี 2558 จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ระดับร้อยละ 7-8 คิดเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ประมาณ 8 แสนล้านบาท ส่วนการแข่งขันในตลาดเงินฝากยังไม่น่าจะมีความรุนแรงมากนัก เนื่องจากการระดมเงินฝากที่มากเกิน การปล่อยสินเชื่อยังคงค้างมาจากปีที่แล้ว ทำให้การเติบโตของเงินฝากในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 หรือเพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท
แม้การขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวมจะเป็นผลบวกต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แต่ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จะทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดบทบาทลง และล่าสุดในการประชุมวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้ง่ายๆ รายได้ค่าธรรมเนียมจึงมีความสำคัญมากขึ้นต่อธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จะพบว่าสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมของธนาคารพาณิชย์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 15.8 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 16.3 และ 17.0 ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก รับแรงหนุนจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเสริมต่างๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคที่จะได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมไปในตัว โดยผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าเริ่มมีความโดดเด่น ได้แก่
การให้บริการผ่านระบบดิจิตอลหรือดิจิตอลแบงค์กิ้ง มีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบันอุปกรณ์ด้านไอทีสามารถเข้าถึงและเป็นที่ยอมรับลูกค้าทุกระดับรายได้และอายุ จึงเป็นก้าวสำคัญสู่ยุคของธนาคารสมัยใหม่ ซึ่งหัวใจสำคัญของบริการทางดิจิตอล คือต้องสร้างระบบให้ง่ายต่อการใช้งานของลูกค้า รวมถึงความปลอดภัย แม่นยำ ในการทำธุร กรรมและการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า
ขณะเดียวกัน ธุรกรรม Trade Finance โดยเฉพาะกับตลาดลูกค้ากลุ่ม SME เนื่องจากกิจการขนาดกลางและเล็กมีโอกาสทางธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น การให้บริการการเงินเพื่อการค้าแบบครบวงจรนอกเหนือจากสินเชื่อ อาทิ การเปิด L/C การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การโอนเงิน ชำระเงิน เป็นต้น และการแข่งขันก็จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย เพราะธนาคารกลางประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศได้จัดทำหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลบริการทางการเงินสำหรับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อใช้เปรียบเทียบในการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของธนาคารในการรักษาและขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า ธนาคารพาณิชย์จะดำเนินกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสองแนวทางหลัก ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายธนาคารในลักษณะพันธมิตร โดยเฉพาะพันธมิตรจากธนาคารในอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งนักลงทุนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนโดยตรงในอาเซียน
ทั้งนี้ เพื่อรับกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นไป 2.การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดกับลูกค้าแต่ละไลฟ์สไตล์ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ หรือผลิตภัณฑ์ประกันสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้อิสระ ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับมือกับการแข่งขันที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแรงกดดันที่มาจากทั้งภายในและนอกประเทศ
KBANK คุมเข้มสินเชื่อ ยอมกำไรน้อย-หวั่น NPLพุ่ง
แนวหน้ : นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า แนวโน้มการปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อย (SME) มีการปล่อยให้กู้อยู่ตลอดแต่ก็มีลูกค้าบางรายที่มีหลักประกันไม่พอ ธนาคารจึงได้มีการออกสินเชื่อใหม่เพื่อรองรับลูกค้าในกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้มีหลักประกันพอที่จะขอกู้สินเชื่อ จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง การจับจ่ายใช้สอยไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ทางธนาคารจึงต้องมีความระมัดระวังและเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยกู้สินเชื่อ เพื่อหาลูกค้าที่มีคุณภาพในการชำระหนี้ได้แนะนำว่าช่วงนี้เป็นไปได้อย่าเพิ่งลงทุนอะไรมาก
ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าก็มีเพิ่มขึ้นบ้างแต่สามารถควบคุมได้และไม่ได้มีการชะลอการปล่อยสินเชื่อและการขอกู้ก็ไม่ได้ลดน้อยลง ดังนั้นจึงได้มีการปรับสินเชื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการอาจจะทำให้กำไรน้อยลงแต่ยังรักษายอดการปล่อยสินเชื่อได้ สำหรับการขอกู้ที่จะลงทุนเชื่อว่าไม่ค่อยมีมากเท่าไร อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าสินเชื่อรายย่อยจะเริ่มกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากทางภาครัฐมีการกระตุ้นด้านสาธารณูปโภคและการลงทุนในด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพทำให้มีการกระจายเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ
ด้าน นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยมีการตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อแบบระมัดระวัง โดยตั้งเป้าหมายสินเชื่อในภาพรวมเติบโต 8-9% ส่วนธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเติบโตอย่างระมัดระวังที่ 6–9% และเน้นควบคุมคุณภาพสินเชื่อเพื่อรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่ดีต่อเนื่อง ด้านยอดเงินฝากและกองทุนรวม ตั้งเป้าเติบโต 9-12% รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเติบโต 20-23%
สำหรับ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ที่ 49,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่ปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่กว่า 48,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดคงค้างสินเชื่อบ้านเติบโตได้ 6-8% โดย KBANK ยังคงมุ่งนโยบายปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ด้วยการขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพในกลุ่มบริษัทพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์ การขยายไปในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ คาดว่าสินเชื่อจะโตได้สอดคล้องตลาด ขณะเดียวกันรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อบ้านให้อยู่ในระดับที่ดี มี NPL ต่ำกว่าตลาด ต่อเนื่อง