- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 02 April 2015 23:54
- Hits: 2679
ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ คาดยอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 2–3 ปีแรก อยู่ที่ประมาณ 3.5-6 หมื่นล้านบาท
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์ เรื่องนาโนไฟแนนซ์ทางออกของหนี้นอกระบบ โดย อีไอซีมองว่ายอดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ภายใน 2–3 ปีแรก น่าจะอยู่ที่ราว 35,000 - 60,000 ล้านบาท โดยความต้องการขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์น่าจะมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ และ 2) กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินอยู่แล้วแต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
สำหรับ กลุ่มแรก กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบ อีไอซีคาดว่าลูกหนี้ในกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 0.5% - 1% ของปริมาณหนี้นอกระบบทั้งหมด หรือประมาณ 25,000 - 50,000 ล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญที่มองว่าสัดส่วนของหนี้นอกระบบที่จะเข้ามาในระบบมีไม่มากนักคือ กลุ่มลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันทำให้สามารถกู้ยืมเงินได้ง่ายและไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากเหมือนกับการกู้ยืมเงินในระบบแม้จะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่เลือกที่จะเข้ามากู้ในระบบ แต่หากเป็นเพียงการกู้เงินเพื่อที่จะนำไปใช้ชำระหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียวแทนที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ สุดท้ายเงินที่ได้มาก็จะหมดไปและต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบอีกครั้ง
สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินแต่จัดอยู่ในชั้นสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) คือ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เกินกว่า 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งกลุ่มนี้มีความต้องการเงินเพื่อนำไปใช้ในการหมุนหนี้ที่ตนมีอยู่ในระบบเพื่อไม่ให้เสียเครดิตบูโรจนไม่สามารถที่จะกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบได้อีก
ปัจจุบันยอดหนี้ของลูกหนี้ที่จัดอยู่ในชั้นนี้ มียอดสินเชื่อ ณ ปลายปี 2557 ราว 32,700 ล้านบาท โดยอีไอซีคาดว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นราว 30% ของปริมาณสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ โดยลูกหนี้กลุ่มนี้น่าจะเข้ามาขอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แทนการไปกู้นอกระบบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์สูงสุดที่ร้อยละ 36 ต่อปีนั้นถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบมาก
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย