- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 11 March 2015 23:42
- Hits: 2521
BBL ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้น ศก.ได้น้อยมาก เพราะหนี้ครัวเรือนสูง
BBL ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้น ศก.ได้น้อยมาก เพราะหนี้ครัวเรือนสูง แต่เป็นเพียงการสร้างบรรยากาศให้ดูดีขึ้นเท่านั้น มองไม่มีผลอะไรต่อ ศก.ในระยะสั้น เพราะเหตุการณ์ข้างหน้านั้นยังไม่มีความแน่นอน สหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBLเปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดดอกเบี้ยนั้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากหนี้ครัวเรือนต่อประชากรยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 85% ของจีดีพี ซึ่งการลดดอกเบี้ยแค่เป็นการสร้างบรรยากาศแต่ไม่ได้กระตุ้นให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอย
ขณะที่ค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าเพราะสาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้น เกิดจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ไทยมีการแลกเงินเพื่อไปซื้อน้ำมันน้อยลง รวมถึงภาคเอกชนยังไม่มั่นใจที่จะมีการลงทุนเพราะภาครัฐยังไม่ได้เริ่มลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
"การลดอกเบี้ยที่ 0.25% นั้น ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงการสร้างบรรยากาศให้ดูดีขึ้นเท่านั้น เพราะหนี้ครัวเรือนของประชาชนยังอยู่ในระดับที่สูง ค่าเงินบาทยังมีการแข็งค่า ภาคเอกชนยังไม่มั่นใจที่จะมีการลงทุนจากภาครัฐ ยังไม่ได้มีการเดินหน้าลงทุนของภาครัฐ" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ไม่มีผลอะไรในช่วงระยะสั้น เพราะเหตุการณ์ข้างหน้านั้นยังไม่มีความแน่นอน สหรัฐฯ กำลังพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนอยู่ในระดับสูงทำให้ไม่มีการใช้จ่าย
"ส่วนตัวมองว่าการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์อื่นๆ มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการเก็งกำไรที่ผิดพลาดได้ "นายโฆสิต กล่าว
สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การลงทุนของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่ โดยจะมีการเร่งให้มีการเบิกจ่ายของภาครัฐและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ
ธนาคารกรุงเทพคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 4% จากปีที่แล้วที่โต 0.7% เนื่องจากเติบโตจากฐานที่ต่ำและรัฐบาลจะมีการเริ่มลงทุนและใช้จ่ายเงิน ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ยอมรับว่า การส่งออกของไทยปีนี้ถือไม่ดีนัก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศต่างๆยังอ่อนแอ ทำให้ความต้องการใช้สินค้าต่ำ ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกลดลง ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทย
"ถือว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากในการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวให้เข้มแข็งในการพัฒนาสินค้าและขยายตลาดที่มีความต้องการที่ดี"นายโฆสิต กล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ส่วนตัวมองว่าภาครัฐยังมีการสื่อสารออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนมีความสับสนและวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว และอยากให้รัฐบาลสื่อสารให้ดีกว่านี้
ขณะที่การการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้นั้น เชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศจะไม่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพราะนักลงทุนเหล่านั้น มีทางเลือกที่จะไปลงทุนประเทศอื่น ล่าสุด มีข่าวออกมาว่าซูซูกิจะใช้ประเทศอินโดนีเซียเป็นฐานในผลิตรถจักรยานยนต์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย