- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 11 March 2015 23:41
- Hits: 2819
SCB EIC ชี้กนง.ลดดอกเบี้ยกระตุ้นศก.ได้ไม่มาก คาดคง 1.75% จนถึงสิ้นปี
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติ 4:3 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.00% มาอยู่ที่ 1.75% ในการประชุมวันนี้นั้น มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงเหนือความคาดหมายของตลาด และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ไม่สูงนักเนื่องจาก 1) รายได้ครัวเรือนภาคการเกษตรที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ 2) ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อภาระภาษีของประชาชน
นอกจากนี้ ภาคธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) มากขึ้น ประกอบกับที่ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยภาพรวมชะลอตัวลง ดังนั้น การใช้จ่ายในประเทศอาจฟื้นตัวไม่สูงนัก โดยเฉพาะหากขาดแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงกดดันให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกยังมีอยู่ต่อไปตราบใดที่เงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน
SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 1.75% ในปีนี้ เนื่องจาก กนง.ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น อีกทั้ง กนง.บางท่านมีความเห็นว่าควรให้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้ยามจำเป็นและมีประสิทธิผลมากกว่านี้
อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ เสียงส่วนใหญ่ของ กนง.ประเมินว่าความเสี่ยงทางด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมีมากกว่าความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางการเงิน หลังจากที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 4 ปี 57 ต่อเนื่องถึงเดือนม.ค.58 ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ และประเมินว่าการใช้จ่ายภาครัฐยังต้องใช้เวลาจึงจะเห็นผลชัดเจน ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน
กนง.ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน โดยในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้กล่าวว่า ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า(Search for yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน หมายความว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อราคาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นสามัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ดังกล่าวได้
อินโฟเควสท์