- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 07 March 2015 14:43
- Hits: 2370
ฟิทช์คงอันดับเครดิตตราสารหนี้สกุลต่างประเทศ-เงินบาทของรัฐบาลไทย
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 เวลา 15.00 น. (เวลาประเทศไทย) Fitch ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศของรัฐบาล (Long-term and Short-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ที่ BBB+ และ F2 ตามลำดับ
รวมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทของรัฐบาล (Long-term Local Currency Issuer Default Rating) ที่ A- และคงสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวของรัฐบาลในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
พร้อมทั้งยืนยันเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A- และอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาท (Senior Unsecured Foreign and Local Currency Bonds) ที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ
1.ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
1.1 จุดแข็งของประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ ภาคต่างประเทศ การคลัง และนโยบายเศรษฐกิจ มหภาคยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี มีแรงกดดันเชิงลบที่ก่อตัวจากการที่อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้จ่าย เพื่อการลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำ และสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ไม่แน่นอน
1.2 ภาคการเงินต่างประเทศมีความเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากดุลภาคต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบรายประเทศ หรือกลุ่มเศรษฐกิจโดยรวม โดย Fitch คาดว่าในปี 2557 ประเทศไทยมูลค่าสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ สุทธิที่ประเทศไทยจะรายงานจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 38 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A อย่างมาก (ร้อยละ 0 และร้อยละ 11 ของ GDP ตามลำดับ) รวมถึงการนำเข้าที่หดตัวลงส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเล็กน้อยในปี 2556 กลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 3.8 ของ GDP ในปี 2557 ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ในปี 2558 จะยังคงมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลง
1.3 การคลังภาครัฐยังอยู่ในฐานะมั่นคง ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 33 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB และ A ที่อยู่ที่ร้อยละ 41 และ 48 ของ GDP ตามลำดับ โดยกรอบความยั่งยืนทางการคลังได้จำกัดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไว้ที่ร้อยละ 60 อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดกลยุทธ์ทางการคลังในระยะปานกลางอย่างเป็นทางการ
1.4 ประเทศไทยมีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง ซึ่งแสดงให้เห็นจากอัตราเงินเฟ้อที่ อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับค่า กลางของกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ BBB รวมถึงเศรษฐกิจไทย ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ ขึ้นซ้ำๆ
1.5 การก่อหนี้ในระดับสูง (High Leverage) และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยในปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 0.7 ซึ่งรวมทั้งหนี้สินของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงได้ส่งผลต่อมุมมองของ Fitch ในการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลาง โดยสัดส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของไทยอยู่ที่ร้อยละ 159 ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือ BBB (ร้อยละ 61 ของ GDP) และ A (ร้อยละ 107 ของ GDP) อย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 85 ของ GDP ทั้งนี้ การกำกับดูแลภาคการเงินมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ก่อตัวขึ้นจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอยู่
1.6 ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาและกระบวนการส่งผ่านอำนาจกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยยังคงเป็นปัจจัยที่ ฉุดรั้งความเชื่อมั่นทางธุรกิจและดัชนีธรรมาภิบาลของไทย
2. พัฒนาการในด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่ม/ลดอันดับความน่าเชื่อถือ มีดังนี้
2.1 พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับมีความไม่สมดุลในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น (2) ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นอีกจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างมีนัยสำคัญ (3) การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของสัดส่วนหนี้ของรัฐบาล (4) มีหลักฐานแสดงว่า ภาระผูกพันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Contingent Liabilities) ที่มาจากหนี้ภาครัฐและการก่อหนี้ของภาคเอกชนในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่องบดุลของประเทศ
2.2 พัฒนาการในอนาคตที่จะส่งผลเชิงบวกต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (1) แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันจะนำไปสู่การลดช่องว่างทางรายได้กับกลุ่มประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A ให้แคบลง (2) ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองได้รับการแก้ไขในระดับที่เพียงพอให้ดัชนีธรรมาภิบาลและการพัฒนาในด้านต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
อินโฟเควสท์