- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Friday, 06 March 2015 22:35
- Hits: 2472
BBL ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยกระตุ้น ศก.เหตุประชาชนมีหนี้สินสูง -ชะลอการใช้จ่าย
BBL ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยกระตุ้น ศก.เหตุประชาชนมีหนี้สินสูง ชะลอการใช้จ่าย ไม่ห่วงเงินเฟ้อติดลบ 2เดือนติดต่อกัน ชี้เป็นผลจากราคาน้ำมันลงแรงเท่านั้น มั่นใจไม่เจอภาวะเงินฝืด -ศก.ไทยยังแกร่ง เผย พร้อมหนุนเอสเอ็มอีลงทุนในอาเซียน เหตุมีสาขาครอบคลุมในหลายประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBLเปิดเผยว่า กรณีที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่า ยืนยันว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก แต่สาเหตุที่ประชาชนไม่มีการบริโภคเนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้สูง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงมาก
ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าเป็นผลมาจากรายจ่ายในเรื่องของราคาน้ำมันปรับลดลง จาก 1 ล้านล้านบาทต่อปีเหลือเพียง 5 แสนล้านบาทต่อปี เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมากถึง 50% ส่งผลให้มีเงินสำรองอยู่ในระบบค่อนข้างมากดังนั้นการแก้ปัญหาโดยการลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง
สำหรับ ด้านการลงทุน สาเหตุที่นักลงทุนยังชะลอการลงทุน เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐ เพราะปัจจุบันยังไม่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน ดังนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าและทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ยืนยันว่าโดยส่วนตัวไม่กังวลปัญหาเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 2เดือนติดต่อกัน เนื่องจากเงินเฟ้อที่ติดลบมีสาเหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง และยืนยันว่าเงินเฟ้อที่ติดลบยังไม่ถือว่าประเทศกำลังเผชิญภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินฝืดจะต้องเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแรง หรือไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนไม่มีการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น
นายชาติศิริ โสภณพนิช การผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารมีความพร้อมทั้งด้านการเงินและที่ปรึกษาในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ออกไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีสาขาครอบคลุมในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงลาวที่จะเปิดสาขาที่ปากเซในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
สำหรับ อุตสาหกรรมที่ออกไปลงทุนในอาเซียนในปัจจุบัน เช่น ธุรกิจอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องนุ่งห่ม และอาหาร ส่วนอุปสรรคของภาคธุรกิจที่จะออกไปลงทุน รวมไปถึงข้อจำกัดที่ภาคธุรกิจจะต้องศึกษา เช่น ความท้าทายในเรื่องของการเข้าใจในพื้นที่ที่จะออกไปลงทุน และการพัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เข้าใจถึงวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เป็นต้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กอบศักดิ์ มองลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบสุดท้ายกดบาทอ่อน-กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เงินบาทอ่อนค่าว่า การดำเนินการเช่นนั้นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว
แต่สาเหตุที่ประชาชนไม่มีการบริโภค เนื่องจากมีภาระหนี้สินมาก และเกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลง ทำให้รายจ่ายของภาคเกษตรกรและประชาชนหายไป ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลงจาก 1 ล้านล้านบาท/ปี เหลือเพียง 5 แสนล้านบาทต่อปี หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงมากถึง 50% ส่งผลให้มีเงินสำรองในระบบค่อนข้างมาก
ส่วนการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจนั้น ก็เพื่อรอความชัดเจนภาครัฐเกี่ยวกันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด
"มองการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยให้บาทอ่อน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เยอะอยู่ แล้วการที่เงินบาทแข็งค่าก็เกิดจากการมูลค่านำเข้าน้ำมันลดลง ทำให้มีเงินสำรองเหลือในระบบมากขึ้น ประกอบกับดอกเบี้ยในขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว มองว่าลดดอกเบี้ยไม่มีความจำเป็น"นายกอบศักดิ์ กล่าว
อินโฟเควสท์