- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 23 February 2015 12:41
- Hits: 2891
จับตาวิกฤตภัยแล้งปีแพะ (อาจ) ซ้ำเติมกำลังซื้อเกษตรกรทรุด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เตือนเกษตรกรอาจอ่วม เจอพิษสองเด้ง หากภัยแล้งลุกลาม คาดอาจฉุดกำลังซื้อเกษตรให้ทรุดลงอีกเกือบ 1 พันบาทต่อครัวเรือน จากปัญหาผลผลิตลดลงมาก
แท้จริงแล้วปัญหาภัยแล้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรเสี่ยงแล้งบ่อยครั้งหรือแล้งซ้ำซากกว่า 3 ใน 4 กระจุกอยู่ในภาคอีสาน แต่ที่กลับมาประเด็นน่าห่วงมากในปีนี้ เนื่องจากเด้งแรก เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเด้งที่สอง หากภัยแล้งมีความรุนแรง จะกลายเป็นสิ่งซ้ำเติม ฉุดกำลังซื้อเกษตรกรให้ทรุดหนักลงไปอีกตามผลผลิตที่ลดลงมาก
จากข้อมูลของทางการ (18 ก.พ. 58) ระบุว่า ระดับน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่ที่ร้อยละ 60 และร้อยละ 57 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำที่กักเก็บในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 5 และร้อยละ 11 ตามลำดับ (ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณฝนในปี 2557 น้อยกว่าปีก่อนหน้า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ) อีกทั้งระดับน้ำกักเก็บในปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุด สร้างความเดือดรอบครอบคลุมพื้นที่ถึง 71 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 7.6 พันล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อปัญหาภัยแล้งทื่อาจเกิดขึ้นรุนแรงในปีนี้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และประเมินว่าพื้นที่เกษตรใน 58 จังหวัด จำนวน 16.17 ล้านไร่ อาจประสบความแห้งแล้งในปี 2558 โดยแบ่งออกเป็นภาคอีสาน 12.61 ล้านไร่ ภาคเหนือ 1.50 ล้านไร่ ภาคกลาง 1.19 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 0.81 ล้านไร่ และภาคใต้ 0.06 ล้านไร่ ซึ่งจะมีอยู่ 23 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด) ที่คาดว่าจะประสบความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้างส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้พืชตายได้และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น ทำให้ผลผลิตลดลงมาก ซึ่งจะกระทบต่อพืชผลที่เก็บเกี่ยวมากในช่วงนั้น เช่น ข้าวนาปรัง เป็นต้น
โดยจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2545 พบว่า ปัญหาภัยแล้งสร้างความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 53-71 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายตั้งแต่ 0.5-13.7 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยราว 357 บาทต่อไร่ ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินว่าหากภัยแล้งในปี 2558 สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่พื้นที่การเกษตรจำนวน 16.17 ล้านไร่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 5.8 พันล้านบาท (หรือร้อยละ 0.4 ของจีดีพีภาคการเกษตร ณ ราคาปัจจุบัน) นั่นหมายความว่าเกษตรกรทั่วประเทศจะมีรายได้ลดลงเกือบ 1 พันบาทต่อครัวเรือน หรือมีรายได้ลดลงเฉลี่ยรายละ 251 บาท
อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำในปัจจุบันจะใกล้เคียงกับระดับวิกฤตภัยแล้งในปี 2548 แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2548 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเฝ้าระวังภัยแล้งมากที่สุด ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ผลผลิตไม่ได้ลดลงมากอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสิบปีก่อน
ทางภาครัฐก็ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ประกาศมาตรการบรรเทาปัญหาภัยแล้งโดยเน้นสร้างรายได้และกระตุ้นการจ้างงานในชุมชน ตำบลละ 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ตำบล วงเงินรวมค่าบริหารจัดการ 3,174 ล้านบาท (ร้อยละ 0.2 ของจีดีพีภาคเกษตร) ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้คำนวณออกมาเป็นเงินช่วยเหลือภัยแล้งสำหรับเกษตรกรต่อราย เฉลี่ยรายละ 133 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากภัยแล้งส่งผลให้เกิดขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงดังประเมินข้างต้น เม็ดเงินช่วยเหลือดังกล่าวอาจได้แค่เพียงบรรเทา แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งได้ ดังนั้น การเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือ/กระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติมของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ