- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 11 February 2015 22:52
- Hits: 2689
KBANK หั่นจีดีพี Q1/58 เหลือโต 1.5% หลังส่งออกไม่ฟื้น แต่คงเป้าทั้งปีที่ 4% หวังการลงทุนรัฐ-เอกชนหนุน
KBANK หั่นจีดีพี Q1/57 เหลือโต 1.5% จากเดิมคาดโต 3% หลังส่งออกยังไม่ฟื้น ส่วนทั้งปียังคงเป้าที่ 4% หวังการลงทุนรัฐ-เอกชน หนุน พร้อมคาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ในปีนี้ เหตุเป็นระดับที่พยุง ศก.ได้ ขณะที่มองเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 34.50 บ./ดอลล์ในครึ่งปีหลัง หากเฟดขึ้นดบ. แนะธปท. สำรองเงินสกุลอื่นเพิ่มกระจายความเสี่ยง
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัย เศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่าการเจิญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในไตรมาส 1/58 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3% แต่ถือว่าดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/57 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศในยูโรโซน และประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทย โดย KBANK ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยปียี้ จะเติบโตได้ 1-2% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3%
อย่างไรก็ตาม ทางยังเชื่อว่า จีดีพีของไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 4% ตามประมาณการเดิม จากแรงผลักดันในส่วนของการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการบริโภคของภาคครัวเรือน หลังจากปีที่ผ่านมาที่จีดีพีขยายตัวได้เพียง 0.8% ซึ่งเป็นฐานที่ค่อนข้างต่ำ
ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจ มองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้เพียง 3.5% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าจะโตได้ 4% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐทั้งงบเก่าและงบใหม่ คาดว่าจะเบิกได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ และให้ภาคเอกชนลงทุนตามได้ รวมถึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของภาคการส่งออก ยังมองว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำเพียง 2-3% ซึ่งต่ำกว่าที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเติบโต 4% ซึ่งเป็นผลจากประเทศยูโรโซนขยายตัวต่ำ โดยต้องจับตามองประเทศกรีซ ว่าจะอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่ เพราะหากกรีซออกจากกลุ่มยูโรโซนจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย รวมไปถึงสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ที่ยังต้องติดตามต่อนเอง หากเกิดการปะทะกันรุนแรง จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การค้าโลกได้
ทั้งนี้ เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งผลักดันการค้าชายแดนในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้กำหนดเป้าหมายตลาดส่งออกให้ชัดเจนเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตลาดเก่าไว้ ขณะที่ภาคเอกชนจะต้องปรับโครงสร้างการผลิต เน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้
นายกอบสิทธิ์ ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ในปีนี้ ซึ่งมองว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสมและยังสามารถพยุงเศรษฐกิจและการเติบโตได้ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง จะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้ภาคครัวเรือนและลดต้นทุนในภาคการผลิตได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จึงสะท้อนว่าอุปสงค์ในประเทศยังสามารถฟื้นตัวได้
ขณะที่ประเมินค่าเงินบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจุบันค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลง 3% ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมี.ค. คาดว่าจะได้เห็นการจ่ายเงินปันผลของบริษัทญี่ปุ่นในช่วงปิดงบปลายปี รวมไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มองว่าจะปรับขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 จะทำให้ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยในปีนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าถึงระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ แนะนำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระจายการตั้งสำรองเงินในสกุลเงินต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง จากปัจจุบันที่ถือครองค่าเงินสกุลดอลลาร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อความผันผวนระยะกลางถึงระยะยาว