- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 09 February 2015 22:07
- Hits: 2687
เศรษฐกิจฐานดิจิตอล...ดันยอดการลงทุนโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในปี 2558-2559 สะพัดกว่า 1.7 แสนล้านบาท
ประเด็นสำคัญ
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2558 - 2559 จะมีการลงทุนในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตต่างๆ ทั้งแบบมีสายและไร้สายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นการลงทุนจากทางภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารภาคเอกชน โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักมาจากการชูนโยบายเศรษฐกิจฐานดิจิตอลของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประกอบกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบมีสายและไร้สายเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 จำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 – 36.0 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 19.3 – 24.1 จากปี 2557 และมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.6 – 55.8 โดยคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 – 7.1 ล้านครัวเรือน ขยายตัวกว่าร้อยละ 20.0 – 29.1 จากปี 2557 หรือมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.9 – 32.1ขณะที่จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายยังขยายตัวได้ดีในกรอบร้อยละ 17.4 – 23.1 แตะระดับ 33.0 – 34.6 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเข้าถึงกว่าร้อยละ 51.2 – 53.6 โดยน่าจะได้รับแรงผลักดันหลักจากราคาอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่อยู่ในระดับต่ำ และจากการเปิดให้บริการ 4G ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการประมูลภายในไตรมาส 3 ปี 2558
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงปี 2558 – 2559 จะมียอดเงินลงทุนในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนกว่า 111,200 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินลงทุนในโครงข่าย 3G และ 4G จากรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารรายใหญ่จากภาคเอกชนอีกประมาณ 62,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในโครงข่าย 4G น่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในโครงข่าย 3G ที่มีอยู่เดิม รวมยอดเงินสะพัดจากการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งหมดกว่า 173,200 ล้านบาท
ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิตอลได้เข้ามามีบทบาทแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิตอลมีส่วนช่วยให้เกิดการจัดระเบียบ สื่อสาร และเชื่อมโยงข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอลจากแหล่งต่างๆ เข้าหากันได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ และการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือแม้แต่ภาคเอกชน จนอาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต จะถูกต่อยอดอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิตอล หรือที่เรียกกันว่า 'เศรษฐกิจฐานดิจิตอล'(Digital Economy)
ในระบบเศรษฐกิจฐานดิจิตอล การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต นับได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงถึงกัน มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจเดิมและก่อให้เกิดนวัตกรรมเชิงธุรกิจในรูปแบบใหม่ อาทิเช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-Commerce) การศึกษาทางไกลทางออนไลน์ (e-Education) หรือการโฆษณาในรูปแบบดิจิตอล (Digital Advertising) เป็นต้น สำหรับในด้านผู้บริโภคนั้น อาจกล่าวได้ว่า อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยุคดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นการติดตามอ่านข้อมูลข่าวสาร การแชทเพื่อติดต่อกับกลุ่มเพื่อนในสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค การดูละครย้อนหลัง ดูหนังออนไลน์ หรือแม้แต่การเล่นเกมออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาและขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว
ภาพรวมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน...ผู้บริโภคไทยเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์สูงถึงร้อยละ 51.2
การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตนั้น สามารถเข้าถึงโดยการเชื่อมต่อผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สาย โดยในกรณีที่เป็นการเชื่อมต่อแบบมีสายมักจะเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิ้ลทีวี ใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) หรือสายโทรศัพท์ (ADSL) เป็นต้น และหากเป็นการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless) มักจะเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม และโครงข่าย 3G หรือ 4G
ในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุปกรณ์สื่อสาร โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงการลงทุนขยายโครงข่าย อินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสาย และโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายผ่านโครงข่าย 3G/ 4G หรือที่เรียกว่า “โมบายบรอดแบนด์” ซึ่งการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตดังกล่าวได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ส่งผลให้ในปัจจุบัน การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
โดยจากการประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2557 มีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายในไทยกว่า 29.0 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 30.6 จากปี 2556 โดยมีอัตราการเข้าถึงกว่าร้อยละ 45.3 จากจำนวนประชากรทั้งหมด
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมดังกล่าว กลับพบว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคไทยสามารถเข้าถึงโมบายบรอดแบนด์ได้ด้วยอัตราที่มากกว่าการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามบ้านเรือน ถึงแม้ว่าการใช้โมบายบรอดแบนด์ผ่านโครงข่าย 3G/ 4G จะมีข้อจำกัดด้านปริมาณการใช้งานและความเร็ว แต่ความนิยมในการใช้โมบายบรอดแบนด์ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจากการประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2557 มีจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายหรือโมบายบรอดแบนด์กว่า 28.1 ล้านคน ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 53.6 จากปี 2556 โดยมีอัตราการเข้าถึงกว่าร้อยละ 43.9 นั่นเป็นเพราะในปี 2557 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารรายใหญ่สามารถขยายโครงข่าย 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 90 ประกอบกับตลาดอุปกรณ์เคลื่อนที่มีการแข่งขันกันสูง โดยมีสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแม้แต่ฟีเจอร์โฟนรุ่นใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชั่นสำหรับการเล่นอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คออกมาหลายรุ่นจากกลุ่มผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ราคาของอุปกรณ์เคลื่อนที่ดังกล่าวลดต่ำลงสู่ระดับที่ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายได้
อีกทั้ง ผู้บริโภคบางกลุ่มมีความต้องการใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพียงเพื่อการแชทกับกลุ่มเพื่อนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือค้นหาหรืออ่านข้อมูลข่าวสารตามเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากนัก นอกจากนี้ กลุ่มผู้ให้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีการแข่งขันกันสูง จึงทำให้แพ็จเกจการใช้งานโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีความหลากหลาย โดยมีอัตราค่าให้บริการรายเดือนต่ำสุดอยู่ที่ 299 บาทต่อเดือน โดยสามารถใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงสุด 42 เมกกะบิตต่อวินาที ได้ในปริมาณ 750 เมกกะไบต์ และเมื่อใช้บริการข้อมูลเกินปริมาณที่กำหนด ความเร็วจะลดลงเหลือ 128 กิโลบิตต่อวินาทีโดยไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน จึงส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่มดังกล่าวมักจะเลือกใช้โมบายบรอดแบนด์ทดแทนการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสาย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนในประเทศไทยกลับพบว่า ในปี 2557 มีจำนวนครัวเรือนที่ใช้บริการอยู่เพียง 5.5 ล้านครัวเรือน เติบโตร้อยละ 12.2 จากปี 2556 หรือมีอัตราการเข้าถึงเพียงร้อยละ 25.0 จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก เพราะถึงแม้ว่าบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายจะมีข้อดีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไม่จำกัดปริมาณและมีความเสถียรในการรับส่งข้อมูล แต่เนื่องจากอัตราค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายในไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 655 บาทต่อเดือน ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไม่จำกัดปริมาณเลือกที่จะใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายจากโครงข่าย 3G/ 4G ที่มีการจำกัดปริมาณการใช้งานแทน
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน โครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายยังไม่สามารถครอบคลุมประชากรทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลตามต่างจังหวัด ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พบว่า ปัจจุบัน องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนได้มีการลงทุนวางโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายด้วยใยแก้วนำแสงแล้วเป็นระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตร โดยครอบคลุมระดับหมู่บ้านประมาณร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้น ด้วยอัตราการค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายที่อยู่ในระดับสูง และข้อจำกัดในด้านการขยายโครงข่ายที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงทำให้การใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบใช้สายยังกระจุกตัวอยู่ตามครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงและมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตลอดเวลา
เศรษฐกิจฐานดิจิตอล...ปัจจัยสำคัญต่อตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของไทยในปี 2558-2559 และดันยอดเงินลงทุนโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสะพัดกว่า 1.7 แสนล้านบาท
โดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2558 ไปจนถึงปี 2559 จะมีการลงทุนโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานหรือโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตต่างๆ ทั้งแบบมีสายและไร้สายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นการลงทุนจากทางภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารภาคเอกชน โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักมาจากการชูนโยบายเศรษฐกิจฐานดิจิตอลของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องขยายโครงข่ายใยแก้วนำแสงให้เข้าถึงผู้บริโภคในระดับหมู่บ้านในสัดส่วนร้อยละ 70 – 80 ของหมู่บ้านทั้งหมดทั่วประเทศภายในปี 2558 และจะต้องเข้าถึงประชาชนในระดับหมู่บ้านในสัดส่วนร้อยละ 95 ภายในปี 2559 ประกอบกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบมีสาย ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมที่ต้องการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่ม และจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารเข้ามาลงทุนในธุรกิจให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายเพิ่มเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น จึงมีโอกาสที่อัตราค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายจะถูกลง และน่าจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดให้บริการ 4G ในคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งคาดว่าจะเกิดการประมูลในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 นี้
จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 จำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 – 36.0 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 19.3 – 24.1 จากปี 2557 และมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.6 – 55.8 จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 – 7.1 ล้านครัวเรือน หรือมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.9 – 32.1 จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดทั่วประเทศ นับว่าเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 20.0 – 29.1 จากปี 2557
ขณะที่จำนวนผู้ใช้โมบายบรอดแบนด์ยังขยายตัวได้ดีในกรอบร้อยละ 17.4 – 23.1 แตะระดับ 33.0 – 34.6 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเข้าถึงกว่าร้อยละ 51.2 – 53.6 จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยน่าได้รับแรงผลักดันหลักจากราคาอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่อยู่ในระดับต่ำ และจากการเปิดให้บริการ 4G ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการประมูลภายในไตรมาส 3 ปี 2558
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงปี 2558 – 2559 จะมียอดเงินสะพัดจากการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายกว่า 173,200 ล้านบาท โดยมียอดเงินลงทุนในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนกว่า 111,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.2 ของเงินลงทุนทั้งหมด และคาดว่าจะมีเงินลงทุนในโครงข่าย 3G และ 4G จากรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบการโทรคมนาคมและการสื่อสารรายใหญ่จากภาคเอกชนอีกประมาณ 62,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.8 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในโครงข่าย 4G น่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในโครงข่าย 3G ที่มีอยู่เดิม โดยคาดว่าในปี 2558 เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์แบบมีสายและโครงข่าย 3G ขณะที่ปี 2559 เงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนขยายโครงข่าย 4G
จากอัตราการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายที่เพิ่มขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมมีส่วนทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางหรือเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2558 การเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในกรอบร้อยละ 8.3 – 10.5 จะทำให้มีมูลค่าเพิ่มโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจสูงถึง 138,860.0 – 175,670.0 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเป็นมูลค่าเพิ่มของกลุ่มธุรกิจหลักๆ อย่างกลุ่มธุรกิจวางโครงข่ายและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการวางโครงข่าย ธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจดิจิตอลคอนเทนต์ หรือแม้แต่ธุรกิจให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากรายงานการชี้วัดดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum พบว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันสำหรับการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายและโมบายบรอดแบนด์อยู่ในอันดับที่ 65 และอันดับที่ 38 ของโลกตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยมีการผลักดันการลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สาย และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นตามที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถยกระดับอันดับความสามารถในแข่งขันสำหรับการเข้าถึงบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้งสองประเภทให้ดีขึ้นในอนาคต
การขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต...หนุนกิจกรรมทางเศษฐกิจบนฐานดิจิตอลขยายตัวในระยะยาว
การที่ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีเสถียรภาพ ย่อมเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลให้มีการขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว โดยเป็นการเอื้อให้เกิดนวัตกรรมเชิงธุรกิจใหม่ๆ โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์และการบริการที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูง เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การโฆษณาในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ การศึกษาออนไลน์ การฝากเงินในรูปแบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการออนไลน์ รวมถึงการทำกิจกรรมทางบันเทิงผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างการฟังเพลง ดูหนัง หรือเล่นเกมออนไลน์ โดยกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ดังกล่าวจะถูกแชร์ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอยู่เสมอ เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้มีประสิทธิภาพและสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและการให้บริการของกลุ่มผู้ประกอบการ และเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างจังหวัด เพราะจะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับการพัฒนาการระบบห่วงโซ่อุปทานและพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการสามารถจัดเก็บข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าและบริการของลูกค้าทางออนไลน์ สำหรับการวิเคราะห์ความนิยมในสินค้าและบริการ รวมถึงความชอบหรือความต้องการของลูกค้า เพื่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและการบริการต่อไป หรือแม้แต่ผู้ประกอบการให้บริการโลจิสติกส์ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าคงคลังผ่านทางระบบออนไลน์ ตลอดจนสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของสินค้าระหว่างการขนส่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถตรวจสอบระยะเวลาในการรับสินค้าได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ทางผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐในไทยส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาทางด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลออนไลน์จากการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาสูง และยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ รวมไปถึงการใช้ระบบ ในขณะที่ทางฝั่งผู้บริโภคไทยโดยภาพรวมยังมีสัดส่วนการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีแรงกดดันจากโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายที่ยังไม่สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ และยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับอัตราค่าบริการที่อยู่ในระดับสูงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายร่วมกัน (Infrastructure Sharing) น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีต้นทุนสำหรับการลงทุนในการพัฒนาและขยายโครงข่ายต่ำลง สามารถมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น นับว่าเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันอีกทางหนึ่งที่น่าจะทำให้อัตราค่าให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตถูกลง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสายตามครัวเรือนมากขึ้น อีกทั้ง การให้ความรู้และความเข้าใจในความสำคัญของการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนที่มีอายุ 40 – 60 ปี จนถึงวัยสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลประสบความสำเร็จ
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น