- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 26 January 2015 23:57
- Hits: 2930
HSBC คาดกนง.ในเดือนม.ค.นี้ยังคงดอกเบี้ย แต่มีโอกาสลดเหลือ 1.75%ภายใน Q1/58
น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 28 ม.ค.นี้ จะมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี โดยจะยังรอติดตามและประเมินข้อมูลเศรษฐกิจ และการพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเอชเอสบีซียังคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี ภายในไตรมาส 1 เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังอ่อนแอ แม้ว่าราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระดับต่ำกว่าศักยภาพ(negative output gap) ต่อไปถึงไตรมาส 3/2559 และเอชเอสบีซีคาดว่ามีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบาย
เราเชื่อว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อต่ำจะเป็นปัจจัยให้ธปท. ผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมในวันที่ 17 ธ.ค.57 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า กนง.ยังคงมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี โดยประเมินว่านโยบายการเงินมีการผ่อนปรนที่เพียงพอต่อเศรษฐกิจ และนโยบายการคลังควรจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจ
"การประชุมกนง.ในวันที่ 28 ม.ค.ที่จะถึงนี้ เราคาดว่า กนง.น่าจะยังรอดูสถานการณ์และประเมินข้อมูลเศรษฐกิจที่จะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 และการพัฒนาของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกด้วย" นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ระบุ
นอกจากนี้ รายงานนโยบายการเงินล่าสุดระบุว่า ธปท.ไม่ได้มีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงในระยะสั้น เนื่องจากคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 ณ สิ้นปี อย่างไรก็ตาม เอชเอสบีซียังคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี ไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ต่อปี ภายในสิ้นไตรมาส 1 ปีนี้
ทั้งนี้ ข้อมูลด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนและการเติบโตของสินเชื่อยังสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายงบประมาณยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงพอ นอกจากนี้ การเบิกจ่ายภายใต้แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มจะต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ของจีดีพี แม้ว่าราคาน้ำมันที่ต่ำลงจะเป็นผลดีต่อการบริโภค แต่ก็มีความเสี่ยงขาลงต่อการส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศคู่ค้าที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์
นอกจากนี้ ธปท.ยังคงมองว่าช่องว่างการผลิต(output gap) จะติดลบตลอดจนถึงไตรมาส 3/59 ดังนั้น เราจึงคิดว่าในท้ายที่สุดแล้วธปท.ยังต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน แม้ว่าธปท.เองจะเป็นห่วงว่าอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนักก็ตาม ทั้งนี้แม้ว่าผลจะอยู่ในวงจำกัด แต่ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลงน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้ นอกจากนี้ เรามองว่าธปท.ยังมีพื้นที่ให้ผ่อนปรนนโยบายการเงินได้อีก ในภาวะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในขณะนี้อยู่ในระดับต่ำ
อินโฟเควสท์