- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 18 January 2015 18:29
- Hits: 3469
‘โอเปก’คาดอุปสงค์ของตลาดต่ำสุดรอบ 10 ปี น้ำมันมีสิทธิ์ดิ่งแตะ 31 ดอลล์
แนวหน้า : บทวิเคราะห์ของ “ไทยออยล์ระบุราคาน้ำมันอยู่ในช่วง “ขาลง”ถึงปี’59 และไตรมาส 1 ปีนี้จะได้เห็นราคาตลาดเบรนท์แตะ 31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้าน บล.กรุงศรีประเมินน้ำมันร่วงส่งผลต่อหุ้นพลังงาน “ธีระชัย” อดีต รมว.คลัง จี้รัฐชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไป ระบุผลประโยชน์เข้ารัฐ ระบุปัจจุบันแค่ 3,000-4,000 ล้านบาท เทียบกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนับหลักแสนล้านบาท
บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบว่า กลุ่มโอเปก มีการรายงานผลการคาดการณ์อุปสงค์ หรือ ความต้องการน้ำมันดิบของกลุ่มในปี 2558 ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 28.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าผลการคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้าประมาณ 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
“นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน หลัง Bank of America Merrill Lynch คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาแตะที่ระดับ 31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2558”
ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณอุปทานน้ำมันดิบโลกที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยปี 2558 มีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากผลการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 77 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสมีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปี 2559 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ ณ ระดับเฉลี่ย 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่เฉลี่ย 57 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับ ราคาน้ำมันดิบปิดตลาด เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2558 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสหรัฐลดลง 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 46.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เบรนท์ลดลง 1.02 ดอลลาร์สหรัฐ ปิด 47.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้น 1.95 ดอลลาร์สหรัฐ ปิด 43.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ กระทรวงพลังงานจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า กระทรวงพลังงานควรชะลอเปิดสัมปทานออกไปก่อน โดยควรจะปฏิรูปการคลังปิโตรเลียมให้เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศไทย เนื่องจากการจัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐจากสัมปทานยังอยู่ระดับต่ำ 3,000-4,000 ล้านบาท เทียบกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหลักแสนล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีอยู่ที่ร้อยละ 62 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 64
ด้าน บล.กรุงศรี วิเคราะห์คาดการณ์ผลประกอบการของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือ ปตท.สผ.ว่า ไตรมาส 4/2557 จะขาดทุนสุทธิ 22,400 ล้านบาท พลิกจากกำไรสุทธิ 15,300 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2557 และ 7,410 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2556 ได้รับแรงกดดันจากการอ่อนตัวของราคา น้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากการด้อยค่าโครงการมอนทาราและโครงการออยล์แซนด์รวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,100 ล้านบาท
ประกอบกับการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ธุรกรรมทางการเงินของบริษัทที่เป็นสกุลเงินบาท ดอลลาร์ แคนาดา และเรียลบราซิล รวมมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 860 ล้านบาท และภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเพิ่มขึ้น 1,670 ล้านบาท นอกจากนี้ ผลประกอบการหลังถูกกดดันด้วยราคาขายปิโตรเลียมซึ่งอ่อนตัวเหลือ 56.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ และบันทึกค่าใช้จ่ายตัดจำหน่ายหลุมแห้งรวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,310 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายปิโตรเลียมขยายตัวเป็น 346,389 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามการผลิตเต็มที่โครงการซอติก้าและไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโครงการ มอนทารา ประกอบกับบันทึกกำไรจากสัญญาป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน 4,750 ล้านบาทก็ตาม
บล.กรุงศรี ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิ ปตท.สผ.ปี 2557 ลงร้อยละ 60 เหลือ 23,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ปรับลดสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2558 ลงเหลือ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (เดิม 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) หลังจากราคาน้ำมันดิบหดตัวมากกว่า ปัจจุบัน ทั้งนี้ ประเมินราคาน้ำมันดิบมีโอกาสฟื้นตัวครึ่งหลังปี 2558 จากความเป็นไปได้ในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ Non-OPEC ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาปัจจุบัน เป็นผลให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2558 ลดลงจากประมาณการเดิมร้อยละ 54 เหลือ 30,500 ล้านบาท โดยสมมุติฐานปริมาณขายปิโตรเลียมเท่ากับ 325,850 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการผลิตเต็มปีของโครงการซอติก้าและการเริ่มผลิตของโครงการแอลจีเรีย ขณะที่ประเมินราคาขายปิโตรเลียมลดเหลือ 49.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ