WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สินค้าเกษตรตกต่ำ-ภาระหนี้สูง-ส่งออกแย่ กดดันระบบเศรษฐกิจไทย

   แนวหน้า : แบงก์ชาติชี้ระบบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เพราะการใช้จ่ายภาครัฐแผ่ว ส่งออกติดลบ 1.4%  ภาคครัวเรือนยังระมัดระวังการจับจ่าย เพราะภาระหนี้สูง ของแพง  ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้น้อย

   นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีการฟื้นตัวแต่เป็นไปอย่างช้าๆ มาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐลดลง มูลค่าการส่งออกสินค้าแผ่วลงตามอุปสงค์จากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป บวกกับราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันโลก ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวบ้างหลังสิ้นสุดมาตรการผ่อนผันให้รถโดยสารมาเลเซียสามารถเดินทางออกนอกจังหวัดสงขลา

   สำหรับ อุปสงค์ภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 0.7% ปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน หมวดสินค้ากึ่งคงทน และหมวดบริการ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งราคาน้ำมันในประเทศที่ลดลงช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังไม่ฟื้นตัว เพราะภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงทำให้ครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าคงทนที่มีมูลค่าสูง และกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตรถูกบั่นทอนด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ

    ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.4% จากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น สะท้อนด้วยการนำเข้าสินค้าทุนโดยเฉพาะในหมวดอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และจากการก่อสร้างที่ทยอยปรับดีขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตยังคงมีไม่มาก เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่และรอให้เศรษฐกิจในประเทศและการส่งออกฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

    ขณะที่การใช้จ่ายและแรงกระตุ้นจากภาครัฐลดลง 19.2% จากเดือนตุลาคมที่โต 26.2%แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐชะลอลงหลังมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประจำในเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายงบลงทุนมีต่อเนื่องแต่โดยรวมการเบิกจ่ายทำได้ค่อนข้างช้าเทียบกับเป้าหมาย สำหรับรายได้รัฐบาลลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน จากภาษีสรรพสามิตที่หดตัวตามยอดจำหน่ายรถยนต์เป็นสำคัญ ประกอบกับมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเพราะราคาน้ำมันทำให้การจัดเก็บภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการน้าเข้าลดลงด้วย

    การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน2557 มีมูลค่า18,236 ล้านดอลลาร์ขยายตัว-1.8% หดตัวจากเดือนตุลาคมที่มีมูลค่า 19,830ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 4.1% เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลายประเทศชะลอลง และราคาน้ำมันลดลง ส่งผลราคาส่งออกสินค้าหลายหมวดลดลง ขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีมูลค่า 16,322 ล้านดอลลาร์( -4.2%) จากเดือนตุลาคม 2557ที่การนำเข้า มีมูลค่า17,748 ล้านดอลลาร์ (- 5.2%)

    อุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์นอกจากนี้มีปัจจัยพิเศษ ได้แก่ มอเตอร์เอ็กซ์โปในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคม ที่กระตุ้นให้มีการผลิตยานยนต์เพื่อรองรับงานดังกล่าว และการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงกลั่นน้ำมัน หลังปิดซ่อมบำรุงไปชั่วคราว ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม

    ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน เพราะมาตรการผ่อนผันให้รถโดยสารมาเลเซียเดินทางออกนอกจังหวัดสงขลาสิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลักทั้งยุโรป รัสเซีย และญี่ปุ่นไม่ดีนัก แต่ตลาดจีนยังมีความเข้มแข็ง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความนิยมในการท่องเที่ยวไทยและความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองของไทยรายได้เกษตรกรที่หดตัวค่อนข้างมากจากระยะเดียวกันปีก่อน

    ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรที่ลดลงเป็นผลจาก พืชสำคัญ 2 ชนิด คือ ยางพาราที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ ได้แก่ จีน และมาเลเซีย ลดคำสั่งซื้อตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับราคายางพาราถูกกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงเพราะสามารถใช้เป็นสินค้าทดแทนกันได้ และข้าวที่ราคาลดลงหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

     ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งด้านในประเทศและต่างประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็วช่วยให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการช้าระคืนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นของสถาบันรับฝากเงิน และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการช้าระเงินใกล้สมดุล ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!