- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 04 January 2015 10:42
- Hits: 4612
วีรพงษ์ รามางกูร : วิกฤตการณ์หมีขาว
กรณีของประเทศไทยเมื่อปี 2540 เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาหลายปี ในปีก่อนหน้านั้นประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดหนักถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางมีระดับต่ำกว่าหนี้ที่กู้ยืมมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะนั้นประเทศไทยตรึงค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งมีดอลลาร์ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 85 ของตะกร้า เมื่อประเทศไทยขาดดุลเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ก็ทำให้ค่าเงินบาทที่ตรึงไว้กับค่าเงินในตะกร้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ มีค่าสูงเกินความเป็นจริง
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้กองทุนตรึงมูลค่า หรือ "กองทุนอีแร้ง" รวมหัวกันโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก แต่ธนาคารกลางของไทยก็เอาเงินทุนสำรองออกสู้จนเกือบหมด มาทราบภายหลังว่าทุนสำรองมีเหลืออยู่เพียง 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ในที่สุดธนาคารกลางของไทยก็ต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว เงินบาทจึงตกลงอย่างรวดเร็ว จากที่ตรึงไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ตกลงไปต่ำสุดที่ 56 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50 บาทต่อดอลลาร์เป็นเวลานาน จึงค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา
เมื่อค่าเงินบาทอ่อนลงไปถึง 52 บาทต่อดอลลาร์ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิดหยุดลงทันที ยกเว้นพลังงานซึ่งก็มีราคาสูงขึ้นประมาณเท่าตัว ทางการต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 13 เปอร์เซ็นต์ไปเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีต่อมา
ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน |
ในกรณีของรัสเซีย ในช่วงที่ราคาพลังงานมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่นิยมเรียกกันว่า กลุ่มประเทศ BRICS อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และสหภาพแอฟริกาใต้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงของบรรดาประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่สามารถขยายตัวได้ด้วยอัตรา 2 หลักมาเป็นเวลานาน ทำให้มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน
รัสเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ในช่วงระยะเวลาที่ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์อย่างอื่นมีราคาสูงขึ้น ขณะที่รัสเซียกำลังได้รับผลประโยชน์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ก็ทำให้รัสเซียทุ่มงบประมาณการลงทุนเกือบทั้งหมดไปกับการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ วางท่อส่งมาขายถึงประเทศจีนในด้านตะวันออก และผ่านยูเครนไปขายถึงยุโรปตะวันตก แต่ละเลยการลงทุนในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอื่น ๆ
ในที่สุดมูลค่าการส่งออกจึงกระจุกตัวอยู่ที่ภาคพลังงานแต่เพียงอย่างเดียวกล่าวคือ การส่งออกพลังงานมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมด สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมรัสเซีย ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรรัสเซียก็ยังสามารถสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ได้เป็นจำนวนกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐ
เมื่อราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูง เศรษฐกิจของโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนก็เริ่มชะลอตัวลง ความต้องการนำเข้าพลังงานก็พลอยชะลอตัวลงไปด้วย ราคาน้ำมันและพลังงานอย่างอื่นก็เริ่มอ่อนตัวลง ยิ่งกว่านั้นยังถูกซ้ำเติมมากยิ่งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก สามารถผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้ได้เพียงพอในประเทศ จึงทำให้เกิดสถานการณ์กำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ ราคาน้ำมันจึงเริ่มอ่อนตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้เป็นต้นมา และเมื่อที่ประชุมกลุ่มประเทศโอเปกประกาศไม่สามารถลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อพยุงราคา ราคาน้ำมันจึงดิ่งลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นอีก
ประเทศที่เป็นผู้ส่งน้ำมันออกทั่วโลก จึงได้รับผลกระทบทางการเงินโดยทั่วไป แต่ที่หนักกว่าเพื่อนเห็นจะเป็นประเทศรัสเซีย
ทันทีที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว รัสเซียก็เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทันที เพราะมีการขายเงินรูเบิลอย่างหนัก แม้จะไม่ใช่การถูกโจมตีค่าเงินโดยกองทุนตรึงค่าอย่างประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2540 แต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกล่าวคือ ค่าเงินรูเบิลลดลงอย่างรวดเร็ว จากอัตราแลกเปลี่ยน 32-33 รูเบิลต่อดอลลาร์ ลงไปเป็นประมาณ 40 รูเบิลต่อดอลลาร์ ทางธนาคารกลางรัสเซียได้นำทุนสำรองประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ค่าเงินรูเบิลยังคงอ่อนค่าต่อไป ทางการจึงหยุดการนำเงินทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินรูเบิล
ในขณะที่เงินตราต่างประเทศยังไหลออก ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงไป ธนาคารกลางรัสเซียก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาเรื่อย ๆ เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อจนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 10.5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 9 เปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อราคาน้ำมันยังคงลดลงไปเรื่อย ๆ ในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่ง ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และหลาย ๆ คนสงสัยว่าเป็นฝีมือของสหรัฐอเมริการ่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มโอเปก เพราะหลังจากรัสเซียได้บุกยึดแหลมไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย สหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำร่วมกับประเทศยุโรป สนับสนุนให้ยูเครนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ซึ่งรัสเซียพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง
การถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าจากสหรัฐและยุโรป มีผลทำให้เกิดปัญหาทางด้านการส่งออกอยู่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันทรุดลงหนักจนต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล และมีทีท่าว่าจะต่ำลงไปอีก ค่าเงินรูเบิลจึงตกดิ่งพสุธาลงไปถึง 80 รูเบิลต่อดอลลาร์
เมื่อค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากความแตกตื่นของตลาด ทางการรัสเซียจึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 10.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 17 ต่อปี พร้อมกับประกาศให้บริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเร่งส่งออกให้มากขึ้น พร้อมกับประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องกระจายงบประมาณการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจของรัสเซียมีความสมดุลมากกว่านี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียในปีหน้าคงจะหดตัวถึง 4 เปอร์เซ็นต์
การที่รัสเซียยอมถอยจากการที่เงินทุนไหลออก เมื่อได้เข้าแทรกแซงไปถึง 30,000 ล้านเหรียญแล้วแต่ไม่ได้ผล และปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนไหลลงโดยรักษาทุนสำรองซึ่งยังค่อนข้างแข็งแรงเอาไว้ จึงทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เหมือนในกรณีต้มยำกุ้ง แต่สถานการณ์การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของรัสเซียจะพลิกกลับอย่างในกรณีของประเทศไทยหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะกรณีของประเทศไทยสินค้าส่งออกของเรากระจายตัวมากกว่าของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ ที่เป็นสินค้าจากภาคเกษตรกรรม สถานการณ์จึงพลิกกลับโดยเร็ว
แต่กรณีรัสเซียคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี....