- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 18 December 2014 23:22
- Hits: 2810
เศรษฐกิจไทยปี 2558 เสี่ยง! ไทยเผชิญขวากหนาม 4 อันทำเศรษฐกิจโตช้า สงครามค่าเงิน วิกฤตรัสเซีย ราคาน้ำมันตกต่ำ การลงทุนภาครัฐล่าช้า
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (Mr. Amonthep Chawla, Ph.D., Head of Research Office, CIMB Thai Bank) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังจะเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ตลาดเงิน และตลาดทุน โดยครั้งนี้จะเป็นปัจจัยจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ค่าเงิน รัสเซีย และน้ำมัน ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี
ปีหน้ามีความเสี่ยงว่า สงครามค่าเงินกำลังจะประทุในภูมิภาคอาเซียน และไทยเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อสงครามค่าเงิน สืบเนื่องจากไทยเผชิญปัญหาการส่งออกหดตัว โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาโครงสร้างที่พึ่งพาสินค้าเทคโนโลยีต่ำและสินค้าเกษตรที่ตลาดโลกเปลี่ยนความต้องการ และในระยะสั้น การส่งออกดูจะมีปัญหาหนักอีกชั้น หลังจากที่ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าแรงแต่เงินบาทกลับอยู่นิ่งๆ ส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่ได้ช่วยให้ภาคการส่งออกเกิดความสามารถในการแข่งขัน
ก่อนหน้านี้ เงินเยนอ่อนค่าแรงจนส่งผลให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าคล้ายกับญี่ปุ่นเสียความสามารถในการส่งออก จึงต้องปล่อยให้เงินอ่อนค่า ซึ่งมีเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ต่อมาราคาน้ำมันลดลงเร็ว การส่งออกของมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ถูกกระทบ ทำให้ค่าเงินของสองประเทศนี้อ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าตามภูมิภาคและกระทบกับการส่งออกจึงกล่าวได้ว่า ไทยกำลังตกเป็นเหยื่อสงครามค่าเงิน
ขณะเดียวกัน ไทยก็มีโอกาสจะเป็นผู้จุดชนวนสงครามค่าเงินเสียเอง กรณีที่หากในการประชุมครั้งถัดๆไปของกนง.มีการประกาศปรับลดดอกเบี้ย เพื่อลดความน่าสนใจของสินทรัพย์ไทย ลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศซึ่งจะทำให้บาทอ่อนค่าเพื่อช่วยผู้ส่งออกนั้น จะเป็นการประกาศสงครามค่าเงินในภูมิภาค เพราะประเทศอื่นๆอาจต้องปรับตัวโดยปรับลดดอกเบี้ยลง ทั้งนี้ จึงมองว่าทางธปท. น่าจะใช้วิธีผ่อนปรนมาตรการเงินไหลออกไปต่างประเทศให้มากขึ้นแทน
หลังสหรัฐฯ หยุดมาตรการ QE และเตรียมพร้อมขึ้นดอกเบี้ย แต่ญี่ปุ่น ยูโรโซน หรือแม้แต่จีนเตรียมพร้อมในการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นสภาพคล่องในตลาดโลก แม้จะลดลง แต่จะไม่หดตัวแรง
ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบๆ มาตลอดช่วงที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ แต่หากสหรัฐมีการขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปลายปี 2558 อีกทั้งการที่ญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการทางการเงินมากขึ้นจะเป็นปัจจัยให้บาทอ่อนค่าได้ แต่กรณีถ้าหากกนง.ปรับลดดอกเบี้ย เพื่อเดินเกมลดความน่าสนใจของสินทรัพย์ไทย ซึ่งเท่ากับว่าเราประกาศสงครามค่าเงินในภูมิภาคนั้น อาจได้เห็นค่าเงินบาทแตะระดับ 36.00 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้
นายอมรเทพ กล่าวว่า ปัจจัยถัดมาและเป็นประเด็นใหม่ คือ วิกฤติรัสเซีย โดยเศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า หลังจากที่ถูกสหภาพยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตร อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องทำให้รัฐบาลรัสเซียศูนย์เสียรายได้หลัก ค่าเงินรัสเซียอ่อนค่าไปเกือบครึ่ง จากภาวะเงินไหลออกอันส่งผลให้เกิดวิกฤติค่าเงิน แม้ทางธนาคารกลางรัสเซียจะขึ้นดอกเบี้ยมาถึง 17% แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี รัสเซียไม่ได้เชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลกมากเท่าอีกหลายประเทศ จึงยังไม่น่าห่วงว่าวิกฤติการเงินในรัสเซียจะลามไปฝั่งยุโรป
สำหรับ ผลกระทบต่อไทยจะมี 3 ด้านหลักๆ คือด้านตลาดเงิน การส่งออกและท่องเที่ยว แม้รัสเซียจะไม่ใช่ตลาดพันธบัตรและตลาดส่งออกหลักก็ตาม ไทยส่งออกไปรัสเซียไม่มาก จึงไม่น่าได้รับผลกระทบทางตรง แต่ต้องระวังผลทางอ้อมหากยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของรัสเซียชะลอตัวทำให้การส่งออกของไทยไปยุโรปลดลง การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปรัสเซียอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีนี้ แต่สินค้าเกษตรที่เติบโตได้ดียังน่าจะเติบโตได้ในปีหน้า
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลงต่อเนื่องยังคงกดดันตลาดท่องเที่ยวไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่ลดลงก็จะมีผลต่อตลาดท่องเที่ยวในพัทยาและภูเก็ต
ด้านตลาดเงิน แม้รัสเซียขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก็ยังไม่ส่งผลให้เงินรูเบิลมีเสถียรภาพได้ ตลาดกำลังกังวลว่าอาจมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุน (capital control) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อผู้ที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรในรัสเซีย แต่ไม่น่ารุนแรงพอที่จะกระทบตลาดพันธบัตรยุโรป หนี้ต่างประเทศของรัสเซียแม้มีมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่นับว่าจะสามารถก่อให้เกิดวิกฤติการเงินได้หากมีการผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งไม่ได้กระจุกตัวอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนมีผลให้เกิด Domino effect ได้
เศรษฐกิจรัสเซียเกี่ยวพันกับราคาน้ำมันค่อนข้างมาก หากราคาน้ำมันลดลงหรืออยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลให้ประเทศขาดรายได้จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ วิกฤติเศรษฐกิจรัสเซียดูคล้ายวิกฤติปี 1998 ที่เริ่มจากราคาน้ำมันจะลงลงต่ำ ตลาดหุ้นทรุดตัวแรง และเงินอ่อนค่า แต่ประเทศไทยและภูมิภาคน่าจะปลอดภัยจากเงินสำรองที่สูง
นายอมรเทพ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ คือ ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง ประเทศไทยนำเข้าสุทธิน้ำมันราว 10% ของ GDP และอาศัยแหล่งพลังงานอื่นไม่มากนัก ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะลดลง แต่ไทยต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพลังงานต่อไป ในช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำ กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและขนส่ง อีกทั้งอุตสาหกรรมที่แปรรูปสินค้าเกษตรพวกยางและปาล์มจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูง เช่น การขุดเจาะน้ำมันและแก็สธรรมชาติ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรเช่นยาง ปาล์ม อ้อย และข้าวอาจลดลงตามราคาน้ำมันซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำต่อไป ซึ่งอุตสาหกรรมค้าปลีกในต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน
ผลดีอื่นๆจากราคาน้ำมันลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง และเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำขณะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งจะสนับสนุนการบริโภคของมนุษย์เงินเดือน
นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศนั้น เรื่องสำคัญคือความรวดเร็วในการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ หากทำได้ก็จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะแม้มีการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน การลงทุนในปีหน้ายังคงเร่งตัวได้ไม่แรงนัก จากขั้นตอนการเบิกจ่ายงบ และจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้นตามการเร่งตัวของสินเชื่อเมื่อเศรษฐกิจฟื้น
“การลงทุนภาครัฐจะมาต้นปีหน้า แต่ขอฝาก 2 เรื่อง 1.ขอฝากภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนให้ได้ว่าจะลงทุนระยะยาวต่อให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลโครงการลงทุนจะดำเนินต่อไป 2. ขอเตือนเอกชนว่าอย่าไปรอภาครัฐอย่างเดียว เพราะถ้าคุณรอ อย่าลืมว่าปีหน้าสภาพคล่องตึงตัว ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น ถ้ามั่นใจน่าจะใช้โอกาสช่วงนี้ลงทุน” นายอมรเทพ กล่าว
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะเติบโตช้า แม้จะมีการลงทุนภาครัฐเป็นพระเอกแต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และไทยเผชิญปัญหาการบริโภคและหนี้ครัวเรือน สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2558 มาอยู่ที่ 3.3% จากเดิมที่มองไว้ 4.5%
ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทยจำกัด (มหาชน)
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อยธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัทให้บริการกองทุนรวมการจัดการสินทรัพย์และผลิตภัณฑ์ประกันภัยและบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขาหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.cimbthai.com
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
จิตติมา ชวลิตนิมิตกุล (เต้ย) โทรศัพท์: +66 2638 8249 ด้านสื่อสารองค์กรธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ชยพัทธ์ บุญมีสุข (เอก) โทรศัพท์: +66 2638 8268 ด้านสื่อสารองค์กรธนาคารซีไอเอ็มบีไทย